โลกยุคเมตาเวิร์ส คือ ที่รวมเอาโลกจริงและโลกเสมือนจริงเข้าไว้ด้วยกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้ชีวิต แต่ก่อนที่จะไปให้ถึงเมตาเวิร์สนั้นจำเป็นที่จะต้องทำโลกจริงให้ดีก่อน ซึ่งการมุ่งสู่เมตาเวิร์สที่ถึงพร้อม จำเป็นต้องอาศัยทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกจริง โดยมีอยู่ในวิชาพื้นฐานทางศิลปวิทยาศาสตร์ (Liberal Arts) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่าง Arts กับ Science พร้อมติดปีกด้วยความรู้เรื่องเทคโนโลยี จึงจะสามารถมีชีวิตรอดอย่างยั่งยืนในโลกยุคใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัสริณ รอดโพธิ์ทอง วงศ์กำแหง รองคณบดีฝ่ายการวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาคุณภาพ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) กล่าวว่า ที่ผ่านมานับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่ MUIC ได้นำเอา Computer Science หรือ หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์และ Communication Design หรือ หลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ ซึ่งเป็นสาขาที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะด้าน มาบรรจุไว้ใน”Liberal Arts” ที่รวมศาสตร์ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอันหลากหลาย ซึ่ง “Liberal Arts” ถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ของการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) เพื่อให้เกิด “การเรียนรู้แบบสหสาขาวิชา” ในบรรยากาศนานาชาติ ที่บวกเอาทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มเติมเข้าไปด้วย โดยหวังให้ได้ “บัณฑิตที่โลกยุคใหม่ต้องการ”
จนล่าสุด MUIC ประสบความสำเร็จได้รับการรับรองมาตรฐานจากเครือข่ายการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยอาเซียน (Asian University Network Quality Assurance (AUN-QA) ไปตามความมุ่งหมาย จำนวน 2 หลักสูตรดังกล่าว ซึ่งเกณฑ์การประเมินมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของ AUN-QA คือบรรทัดฐานที่ MUIC ใช้ในการพัฒนาคุณภาพหลักสูตรสู่มาตรฐานสากลตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยต่อไปจะได้พยายามผลักดันให้หลักสูตรทั้งหมดของ MUIC ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพจาก AUN-QA จนครบทั้งหมด 17 หลักสูตร
นอกจากนี้ เป้าหมายของ MUIC ต่อไปจะไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ในระดับอาเซียน แต่จะมุ่งสู่ความเป็นเลิศ จากการเป็นผู้นำของสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติต่อไปในระดับเอเชีย
โดย หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่ MUIC เพิ่งได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพจาก AUN-QA นั้น ได้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญนิตย์ มัธยมจันทร์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวเรือใหญ่ในฐานะหัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวิทยาการคอมพิเตอร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) ของ MUIC
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญนิตย์ มัธยมจันทร์ ได้กล่าวให้ความเชื่อมั่นถึงศักยภาพของการจัดหลักสูตรดังกล่าวของMUIC ว่า ที่ผ่านมาทางหลักสูตรฯ สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานไม่เพียงในระดับประเทศ แต่ไปได้ไกลถึงระดับโลก
จากความแข็งแกร่งของพื้นฐานทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกศาสตร์ และทั่วโลก เคยมีบัณฑิตของหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ MUIC สามารถพิชิตบันไดสู่เส้นทางสุดยอดวิชาการวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ศึกษาต่อถึง Carnegie Mellon University สหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ในอันดับ Top3 ของโลก ที่ทุกคนใฝ่ฝัน
แน่นอนที่ว่า การใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลที่ทั่วโลกใช้กัน ไม่ใช่อุปสรรคปัญหาที่สำคัญสำหรับนักศึกษาหลักสูตรนานาชาติของ MUIC เนื่องจากโดยปกติแล้วได้มีข้อกำหนดให้นักศึกษาทุกรายจะต้องยื่นผลทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตั้งแต่ในขั้นตอนการสมัครเข้าเรียน
และที่สามารถบ่งบอกได้ถึง “คุณภาพคับแก้ว” ยิ่งกว่า คือการที่ทุกหลักสูตรของ MUIC จัดให้นักศึกษาทุกคนได้มีโอกาสศึกษาโดยตรงกับอาจารย์ผู้สอนได้อย่างเต็มที่แบบ”ตัวต่อตัว” และกำหนดให้นักศึกษาของ MUIC ทุกคนได้”คืนกำไร” แก่สังคม ด้วยการ “ให้เวลา 1 ปีเต็ม” เพื่อให้นักศึกษาของ MUIC ได้จัดทำ “สารนิพนธ์” ที่ตอบโจทย์สาธารณชน ก่อนสำเร็จการศึกษา
ซึ่งไม่เพียงนักศึกษาหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่ยังรวมถึงนักศึกษาหลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ ซึ่งเป็นอีกหลักสูตรของ MUIC ที่เพิ่งได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพจาก AUN-QA เช่นกัน ที่จะต้องจัดทำสารนิพนธ์ก่อนสำเร็จการศึกษา
โดยที่ผ่านมา ผลงานของนักศึกษาหลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ MUIC ได้รับคัดเลือกให้ได้นำเสนอผลงานภายในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ Bangkok Design Week (BKKDW) ที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์(องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
อาจารย์ ดร.ดัยนยา ภูติพันธุ์ คือ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ศป.บ.) สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีความเป็นมาถึงกว่าทศวรรษ โดยเริ่มต้นได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพจาก National Association of Schools of Art and Design (NASAD) สหรัฐอเมริกา
โดย อาจารย์ ดร.ดัยนยา ภูติพันธุ์ ได้เล่าถึง หนึ่งในผลงานล่าสุดของนักศึกษาหลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ MUIC ที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปนำเสนอในงาน BKKDW ที่น่าภาคภูมิใจในปีที่ผ่านมา ได้แก่ โปรเจค “EYE TO EYE” ที่จัดแสดงในประเภท Viral Exhibition
ซึ่งโปรเจค “EYE TO EYE” ของนักศึกษาหลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ MUIC เป็นการแสดง (showcase) ที่ว่าด้วยอาการของผู้ป่วยที่ได้รับความกระทบกระเทือน (trauma) จากอุบัติเหตุรถยนต์ ซึ่งหากไม่ได้เข้ารับการรักษาผ่านการตรวจอย่างละเอียด อาจไม่สามารถทราบได้เลยถึง “ผลกระทบกระเทือนแฝง” ที่มีต่อสายตา หรือต่อการมองเห็น รวมทั้งการทำงานของสมอง
โดยที่ผ่านมาพบว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศยังมีปัญหาในเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย จากการไม่สามารถออกแบบสื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทีมนักศึกษาผู้สร้างสรรค์จึงได้จัดทำเป็น visual demonstration หรือการใช้เทคนิคอธิบายด้วยภาพ ผ่านอุปกรณ์แว่นอัจริยะ VR เพื่อเพิ่มทางเลือกให้สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจง่ายขึ้น
ซึ่ง “แก่นแท้” ของหลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์นานาชาติMUIC คือ การ “ถอดหัวใจ” ใส่ลงไปในแต่ละชิ้นงานของการออกแบบสื่อสร้างสรรค์ ด้วยทักษะของการสื่อสาร และมุมมองทางศิลปะ ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถมาแทนที่ได้
ปัจจัยโดดเด่นที่ทำให้หลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ของMUIC ได้เป็น “หลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศไทย” ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพจากAUN-QA คือ “กรอบความคิดแห่งความเป็นนานาชาติ” หรือinternational mindset ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามโจทย์ที่หลากหลาย
ไม่ว่าจะอยู่ในชาติใด ภาษาใด หรือ วัฒนธรรมใดก็ตาม การันตีได้ว่านักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรออกแบบนิเทศศิลป์ของ MUIC ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นบัณฑิตที่ถึงพร้อมด้วยทักษะ “ออกแบบได้ – แก้ปัญหาเป็น” โดยสามารถนำเอาแฟ้มผลงานการออกแบบ (Design Portfolio) ที่ได้สะสมชิ้นงานเอาไว้จากที่เคยศึกษาในหลักสูตรฯ ไปสมัครทำงานออกแบบได้ทุกที่ทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่ว่าโลกยุคเมตาเวิร์สจะเป็นเช่นไร แต่ถ้าในโลกจริงสามารถยืนได้ด้วยพื้นฐานแห่งทักษะทางวิชาการ และทักษะต่างๆ ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตได้อย่างแข็งแกร่ง เชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นแรงผลักดันให้คนรุ่นใหม่ “ชนะ” ได้ในโลกทุกสมัยต่อไปอย่างแน่นอน
สำหรับน้องๆ นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว สนใจจะร่วมสร้างอนาคตไปกับ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) สามารถติดตามรายละเอียดการสมัครเรียนได้ที่ Facebook: MUIC Official Fanpage
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล