“หัวเว่ย” เดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อโลกอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“หัวเว่ย” ได้เปิดการประชุมสุดยอดนักวิเคราะห์ระดับโลกประจำปีครั้งที่ 19 ณ เมืองเซินเจิ้นในวันนี้ โดยเป็นการประชุมที่รวมเหล่านักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรม, นักวิเคราะห์ทางการเงิน, ผู้นำทางความคิด และตัวแทนสื่อมวลชนทั่วโลก ร่วมกันเสวนาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต และกลยุทธ์การพัฒนาของหัวเว่ย

ภายในงาน คุณเคน หู (Ken Hu) ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับแนวทางของบริษัทในด้านนวัตกรรมและการสร้างโลกอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมระบุว่า “เราจะเสริมความแข็งแกร่งให้แก่แนวทางของเราในการสร้างสรรค์นวัตกรรม จัดเตรียมอุตสาหกรรมทั้งหมดให้ก้าวสู่ความดิจิทัลที่ชาญฉลาด และสร้างโลกคาร์บอนต่ำ” พร้อมย้ำว่า “สิ่งเหล่านี้คือกุญแจสู่การเติบโตในอนาคตของเราในฐานะบริษัท”

แนวคิดริเริ่ม 3 ประการของหัวเว่ย ประกอบด้วย

สร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและผลักอุตสาหกรรม:

  • ในแง่ของการเชื่อมต่อ หัวเว่ยยังคงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า โดยบริษัทได้ประกาศวิสัยทัศน์ในการเปิดใช้งานการเชื่อมต่อขนาด 10 Gbps ในทุกสถานที่ผ่านเครือข่าย 5.5G และ F5.5G ซึ่งเป็นวิวัฒนาการแห่งอนาคตสำหรับอินเทอร์เน็ตไร้สายและอินเทอร์เน็ตบ้าน สิ่งเหล่านี้จะร่วมกันรองรับความต้องการเครือข่ายเฉพาะกลุ่มที่กว้างขึ้น รวมถึงประสบการณ์ที่สมจริงยิ่งขึ้นภายในบ้าน เช่นเดียวกับเวลาแฝงต่ำและความน่าเชื่อถือสูงที่จำเป็นสำหรับการใช้งานด้านการควบคุมในอุตสาหกรรม
  • ในแง่ของการประมวลผล หัวเว่ยกำลังพัฒนาสถาปัตยกรรมระบบใหม่สำหรับแต่ละโหนด, ซอฟต์แวร์พื้นฐาน และศูนย์ข้อมูล ด้วยความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบและความคุ้มค่าในการใช้พลังงานอย่างมีนัยสำคัญ
  • สำหรับบริการคลาวด์ หัวเว่ยกำลังสร้าง “เมตาสตูดิโอ” (MetaStudio) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเนื้อหาดิจิทัลแบบครบวงจรบนคลาวด์ เพื่อทำให้การผลิตเนื้อหาดิจิทัลมีความรวดเร็วยิ่งขึ้นอย่างมาก
  • ในแง่ของอุปกรณ์ หัวเว่ยมีเป้าหมายที่จะมอบประสบการณ์อัจฉริยะที่เน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลางให้แก่ผู้บริโภคในทุกแง่มุมของชีวิต หรือที่ทางบริษัทเรียกว่าประสบการณ์ชีวิต AI ไร้รอยต่อ (Seamless AI Life) ซึ่งจะเร่งการบรรจบกันของโลกจริงกับโลกดิจิทัลในที่สุด

เดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ลูกค้า:

  • หัวเว่ยกำลังปรับผลิตภัณฑ์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับสถานการณ์การใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน บริษัทจะเริ่มทำการผสานรวมและการทดสอบผลิตภัณฑ์ล่วงหน้า ดำเนินงานที่ซับซ้อนทั้งหมดไว้ล่วงหน้าเพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลง่ายขึ้นสำหรับลูกค้าและพันธมิตร ด้วยรากฐานของระบบคลาวด์ของหัวเว่ย บริษัทมุ่งหวังที่จะให้ “บริการรอบด้าน” (Everything as a Service) พลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญให้เป็นบริการบนคลาวด์ และทำให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ย้ายไปใช้ระบบคลาวด์ง่ายขึ้น
  • นอกจากนี้ หัวเว่ยยังสร้างทีมแบบบูรณาการที่มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเฉพาะ นำกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาจัดการกับความท้าทายทางธุรกิจของลูกค้าและทรัพยากรแนวราบที่เชื่อมถึงกันมากขึ้น กล่าวคือผลิตภัณฑ์และขีดความสามารถของพันธมิตร เป้าหมายของเราคือการจัดหาโซลูชันการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลที่ตรงเป้าหมายสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายไฟและการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ:

  • หัวเว่ยกำลังกำหนดนิยามใหม่สำหรับภาคส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ (PV) ด้วย AI, คลาวด์ และความสามารถอื่น ๆ เพื่อเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียน
  • หัวเว่ยกำลังพัฒนาโซลูชันคาร์บอนต่ำระดับระบบสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที (ICT) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นที่สถานีฐานไร้สายและศูนย์ข้อมูล

หัวเว่ยกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างแข็งขันเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทางธุรกิจและสร้างการพัฒนาที่มั่นคง นายหูกล่าวว่า “เราต้องเดินหน้าต่อไปด้วยนวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง สร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าและสังคม” พร้อมระบุว่า “เราตั้งตารอที่จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับลูกค้าและพันธมิตร เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

นอกจากกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมแล้ว หัวเว่ยยังแบ่งปันวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลสำหรับอนาคตและการสำรวจบางส่วนที่หัวเว่ยกำลังดำเนินการเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ดร. โจว หง (Zhou Hong) ประธานสถาบันวิจัยเชิงกลยุทธ์ของหัวเว่ย กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่เราจินตนาการไว้ในวันนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นแบบอนุรักษ์นิยมเกินไป เล็กน้อยเกินไปสำหรับวันพรุ่งนี้ เราต้องเดินหน้าสู่อนาคตด้วยสมมติฐานและวิสัยทัศน์ที่กล้าท้าทาย เลิกเอาแต่ระมัดระวัง แล้วหันมาฝ่าฟันทุกอุปสรรคด้านทฤษฎีและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ และนี่เองเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เราก้าวไปข้างหน้า”

ดร. โจว ได้สรุปความท้าทาย 10 ประการ ที่หัวเว่ยตั้งมั่นที่จะจัดการในอนาคต

2 คำถามด้านวิทยาศาสตร์:

  • เครื่องจักรมีการรับรู้โลกอย่างไร และเราสร้างโมเดลที่สามารถสอนเครื่องจักรให้เข้าใจโลกได้หรือไม่
  • เราจะเข้าใจกลไกทางสรีรวิทยาของร่างกายมนุษย์ให้ดีขึ้นอย่างไร รวมทั้งการทำงานของระบบทั้งแปดของร่างกาย ตลอดจนเจตนาและสติปัญญาของมนุษย์

8 ความท้าทายด้านเทคโนโลยี:

  • ความสามารถในการตรวจจับและควบคุมแบบใหม่ เช่น ส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์, ส่วนต่อประสานระหว่างกล้ามเนื้อกับคอมพิวเตอร์, จอภาพ 3 มิติ, การสัมผัสเสมือนจริง, กลิ่นเสมือนจริง และรสชาติเสมือนจริง
  • การวัดความดันโลหิต, ระดับน้ำตาลในเลือด และภาวะหัวใจแบบเรียลไทม์โดยไม่ต้องเสียบสายระโยงระยาง และการค้นพบที่มีประสิทธิภาพด้วย AI ในด้านเภสัชภัณฑ์เคมี, ชีวเภสัชภัณฑ์ และวัคซีน
  • ซอฟต์แวร์อัจฉริยะแบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพและเน้นการใช้งานเป็นหลัก เพื่อความคุ้มค่าและประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น
  • บรรลุและก้าวข้ามขีดจำกัดของแชนนอน (Shannon limit) เพื่อสร้างการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งในระดับภูมิภาคและทั่วโลก
  • โมเดลการคำนวณที่ปรับเปลี่ยนได้และมีประสิทธิภาพ สถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่แนวฟอนนอยมันน์ (non-Von Neumann) ส่วนประกอบที่แปลกใหม่ และ AI ที่สามารถอธิบายได้และแก้จุดบกพร่องได้
  • คิดค้นโมเลกุล, ตัวเร่งปฏิกิริยา และส่วนประกอบใหม่ด้วยการประมวลผลอัจฉริยะ
  • พัฒนากระบวนการใหม่ที่เหนือกว่าระบบ CMOS มีค่าใช้จ่ายน้อยลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การแปลงและการจัดเก็บพลังงานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนบริการแบบออนดีมานด์

การประชุมสุดยอดนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2547 และมีขึ้นเป็นประจำทุกปีเป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า 19 ปี สำหรับงานในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 27 เมษายน 2565 ประกอบด้วยการประชุมกลุ่มย่อยในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของหัวเว่ย

ที่มา:  พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์