วันที่ 22 เมษายน 2565 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือพัฒนาบุคลากรและคู่มือประกอบการสอน ด้านการทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง (2565-2567)
ความร่วมมือครั้งนี้ เนคเทค สวทช. โดย ห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ Train the Trainer : การทดสอบซอฟต์แวร์ ขั้นพื้นฐาน (Train the Trainer : Software Testing – Foundation level) ให้กับอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของ มทร. อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งเป็นสถาบันนำร่องที่มีความพร้อมรอบด้าน ให้ได้ความรู้ในด้านการทดสอบซอฟต์แวร์ระดับสากล สำหรับระดับพื้นฐาน และระดับสูง เพื่อพัฒนาศักยภาพการทดสอบซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ตลอดจนยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นผู้ทดสอบซอฟต์แวร์ ตามหลักการของมาตรฐานสากลที่จะช่วยให้ระบบซอฟต์แวร์มีคุณภาพและได้มาตรฐานในระดับสากล ภายใต้โครงการความร่วมมือพัฒนาบุคลากร และพัฒนาคู่มือประกอบการสอนของสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดความตระหนักในการทดสอบซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานระดับชาติ และนานาชาติของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาความรู้ด้านการทดสอบซอฟต์แวร์ และมีผู้ผ่านหลักสูตรการทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูงจำนวนมากขึ้น โดยโครงการได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติกล่าวว่า กระผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานของเราซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กระทรวง อว. มีโอกาสทำงานร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค
โดยเนคเทค มีวิสัยทัศน์ ในการสร้างฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ มีพันธกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดระบบนิเวศน์ของการใช้งานเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูง ผ่านโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติและเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษา และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่มาตรฐานระดับสากล เนคเทค จึงได้จัดตั้งให้มีห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) ขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
การทดสอบซอฟต์แวร์ (Software Testing) เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ นั่นคือการตรวจสอบและตรวจทาน ว่าซอฟต์แวร์ที่ส่งมอบนั้น มีความถูกต้อง สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพตามที่ผู้ใช้งานคาดหวังไว้ และให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์มีความปลอดภัยและมีฟังก์ชันการทำงานตรงตามที่ออกแบบคุณลักษณะไว้ รวมทั้งเป็นไปตามมาตรฐานสากล เนคเทค จึงเปิดให้บริการทดสอบซอฟต์แวร์ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่
- ระบบซอฟต์แวร์ 2. ระบบเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ 3. ซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ และ 4. ระบบ Internet of Things
และการให้บริการเครื่องมือ Hardware in the loop เพื่อใช้ในการทดสอบโดยการจำลองยานยนต์และสภาพแวดล้อมแบบเรียลไทม์สำหรับการตรวจทาน (validating) ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical control unit – ECU) เป็นต้น
โดยเมื่อปี 2562 เนคเทคได้นำร่อง จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทดสอบซอฟต์แวร์ระดับสากล สำหรับระดับพื้นฐาน รุ่นที่ 1 (Software Testing Boot Camp: Foundation Level)” เพื่อเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาทักษะ เพิ่มขีดความสามารถให้แก่กลุ่มวิศวกรทดสอบซอฟต์แวร์ให้ได้ตามหลักมาตรฐานสากล (International Software Testing and Qualifications Board: ISTQB) โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการอบรม จำนวนกว่า 40 คน โดยรูปแบบการอบรม มีการบรรยายให้ความรู้ Exercise และ Workshop ในหัวข้อต่าง ๆ รวมทั้งจำลองการสอบ เสมือนจริงหลังการอบรม และมีผู้ไปสอบ ISTQB-CTFL ผ่าน จำนวน 3 คน ซึ่งทำให้ได้รับการปรับตำแหน่งและขึ้นเงินเดือน อีกทั้งผู้เข้าอบรมยังได้นำความรู้ที่ได้ ไปประยุกต์ใช้ในงานทดสอบซอฟต์แวร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการยกระดับมาตรฐานซอฟต์แวร์อีกทางหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมยังมีความต้องการบุคลากรทางด้าน Software Testing เป็นจำนวนมาก
การให้บริการทดสอบซอฟต์แวร์ในด้านต่างๆ ตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดของระบบที่มีซอฟต์แวร์เป็นส่วนประกอบ โดยการทดสอบคุณภาพในด้านต่างๆ ตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดของระบบ ซึ่งจะเป็นการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ เป็นการลดค่าใช้จ่ายการทดสอบตามมาตรฐานต่างๆ เมื่อเทียบกับการส่งไปทดสอบในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขยายผลในวงกว้างทั้งส่วนความตระหนักในการทดสอบซอฟต์แวร์ของภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้มีผู้ผ่านหลักสูตรการทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูงจำนวนมากขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ซึ่งในปี 2565 นี้ เนคเทค สวทช. มีความสนใจที่จะขยายผลการดำเนินงานโครงการไปยังพื้นที่สถาบันการศึกษา และได้เล็งเห็นแล้วว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เป็นสถาบันนำร่องที่มีความพร้อมรอบด้าน เพื่อสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาและร่วมกันพัฒนาคู่มือประกอบการสอนการทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง โดย เนคเทค สวทช. มีบทบาทในการจัดเตรียมข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการอบรมการทดสอบซอฟต์แวร์ รวมทั้งจัดหาวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเชิงเทคนิคในการอบรเชิงปฏิบัติการ เพื่อขยายผลไปสู่การสนับสนุนอาจารย์แกนนำที่ผ่านการอบรมให้ร่วมจัดทำคู่มือประกอบการอบรมทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในการทดสอบซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานระดับสากล ขยายผลเป็นรูปธรรมในภูมิภาคอีสาน ผ่านสถาบันการศึกษาที่สนใจรวมถึงเนคเทคพร้อมสนับสนุนงานด้านอื่นๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะของบุคลากรในระดับอุดมศึกษาอันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวถึงความร่วมมือ ต้องขอขอบคุณทางเนคเทค สวทช.ที่ให้การสนับสนุนความร่วมมือกัน สืบเนื่องจากมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบซอฟต์แวร์และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ต่อครั้งในการทดสอบ อีกทั้งภาวะการปัจจุบัน มีระบบซอฟต์แวร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานวิจัยต่างๆ และมีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกหน่วยงาน ทำให้นักวิจัย มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่นได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และโอกาสที่จะหาเครือข่ายและสร้างความร่วมมือในด้านนี้ จึงได้เกิดโครงการความร่วมมือพัฒนาบุคลากรและคู่มือประกอบการสนอด้านการทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง (2565-2567) ขึ้น ความร่วมมือที่ผ่านมา ระหว่าง มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และเนคเทค สวทช. นั่นก็คือ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Train the Trainer : การทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งอบรมเมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2565 ผ่านระบบออนไลน์
โดยกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการอบรม คืออาจารย์ จำนวน 32 คน วัตถุประสงค์ของความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายสถาบนการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดคู่มือประกอบการสอนการทดสอบซอฟต์แวร์พื้นฐานและขั้นสูงเป็นสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดความตระหนักในการทดสอบซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติของภาคอุตสาหกรรม และสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษา ขยายความร่วมมือด้านการทดสอบซอฟต์แวร์ในอนาคตต่อไป
ที่มา: NECTEC