เมื่อทุกสิ่งในโลกปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นเรื่องของดิจิทัลและเทคโนโลยี การพลิกโฉมโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะในปัจจุบันไม่ว่าคนเราจะอายุเท่าไหร่หรือเพศใดก็สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและความเปลี่ยนแปลงผ่านภาษาคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า ‘โค้ดดิ้ง’ ได้เพียงปลายนิ้ว
เมื่อ ‘โค้ดดิ้ง’ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและโอกาสได้ไม่รู้จบ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กำลังหมุนไปข้างหน้า ด้วยการจัดโครงการ Samsung Innovation Campus เพื่ออบรมการเขียนโปรแกรมแก่เยาวชนไทยให้เตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังอนาคต
เมื่อโค้ดดิ้ง คือ ปัจจุบัน ไม่ใช่ อนาคต
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นในหลาย ๆ มิติ เยาวชนยุคใหม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อสังคมดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป บวกกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีเพิ่มบทบาทสำคัญมากกว่าที่เคย และผลักให้โค้ดดิ้งได้กลายเป็น ‘ภาษาใหม่ของยุคดิจิทัล’
เทคโนโลยีมากมายที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ล้วนถูกสร้างมาจากการเขียนโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ โดยหากนึกถึงสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน โปรแกรมในคอมพิวเตอร์ หรือวิดีโอเกม ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์และมีการเขียนโค้ดอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ดังนั้น ‘โค้ดดิ้ง’ จึงกลายเป็นทักษะและกระบวนการคิดสำคัญที่ช่วยวางรากฐานใน ‘ปัจจุบัน’ และพร้อมต่อยอดทุกการสร้างสรรค์ใน ‘อนาคต’
ในช่วงหลายปีมานี้ โรงเรียนทั่วโลกได้นำ “วิชาโค้ดดิ้ง” เข้าไปเป็นวิชาพื้นฐานสำหรับเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการสอนโค้ดดิ้งให้กับเยาวชนในทุกรัฐ ประเทศจีนที่มีหลักสูตรสอน A.I. ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมปลาย ประเทศเกาหลีใต้ที่มีการพัฒนาการสอนหุ่นยนต์และการเขียนโค้ดอย่างต่อเนื่อง หรือในประเทศญี่ปุ่นที่มีการสอนเขียนโค้ดแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นต้นไป โดยเด็กและเยาวชนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่แนวคิดพื้นฐานของการเขียนโค้ด จนสามารถนำไปพัฒนาต่อในระดับที่ท้าทายขึ้นต่อไป เพื่อให้พวกเขาพร้อมสู่การเป็นผู้ใหญ่ในโลกยุคดิจิทัล
สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ส่งเสริมทักษะโค้ดดิ้งให้กับนักเรียนมาตั้งแต่ปี 2561 โดยกำหนดให้โรงเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาเพิ่มการเรียนโค้ดดิ้งลงในหลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณ แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านความพร้อมของการเรียนการสอน ทั้งในแง่จำนวนของบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ การขาดสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย ตลอดจนงบประมาณในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะโค้ดดิ้ง จึงทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้โค้ดดิ้งได้อย่างเต็มที่
จุดเริ่มต้นสู่โอกาสใหม่ ไม่ว่าใครก็เรียนได้
โค้ดดิ้งไม่เพียงช่วยเสริม ‘ทักษะ’ ที่จำเป็นเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นฐานของ ‘กระบวนการทางความคิด’ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะของเด็กรุ่นใหม่ ผ่านการจัดการปัญหา การคิดอย่างมีเหตุผล และการวิเคราะห์ปัญหา พร้อมยังช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และการรู้เท่าทันเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตเป็นประชากรยุคดิจิทัลที่มีคุณภาพ พร้อมนำประเทศก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ได้อย่างยั่งยืน
โดยผลสำรวจ Jobs on the Rise ของ LinkedIn ซึ่งสำรวจความต้องการตลาดแรงงานในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ให้เห็นว่าสายงานด้าน Software & Technology กำลังเป็นสายงานที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น นักพัฒนาเว็บไซต์ Front-end / Back-end, นักออกแบบ UX / UI หรือวิศวกรซอฟต์แวร์ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยทักษะและกระบวนการคิดจากวิชาโค้ดดิ้งทั้งสิ้น ทำให้มั่นใจได้ว่าโค้ดดิ้งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อตลาดแรงงานปัจจุบัน รวมถึง ‘อาชีพเกิดใหม่’ อีกมากมายในอนาคตอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จึงต้องการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กยุคใหม่ในการรับมือกับความเปลี่ยงแปลงในโลกดิจิทัลผ่านการริเริ่มโครงการ Samsung Innovation Campus มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อจัดอบรมหลักสูตรการเขียนโค้ดและการเขียนโปรแกรม (Coding & Programming) ให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งการอบรมล่าสุดในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2565 ซัมซุงได้เริ่มปูพื้นฐานโค้ดดิ้งให้เยาวชนไทยตั้งแต่การฝึกทักษะการคิดเชิงตรรกะ การเรียนรู้พื้นฐานภาษา C และ Python ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมมิ่งที่สำคัญและได้รับความนิยม รวมไปจนถึงการให้ความรู้ด้าน AI และการนำไปประยุกต์ใช้ควบคู่กับการเขียนภาษา Python และฝึกให้เยาวชนได้ทดลองสร้างสรรค์ผลงานจริงด้วยตนเอง เพื่อที่จะได้นำความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อขับเคลื่อนโลกในอนาคต สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรียนรู้การเขียนโค้ด สามารถติดตามรายละเอียดของการฝึกอบรมได้ที่ www.samsungsic-thailand.org หรือเฟซบุ๊คเพจ Samsung Innovation Campus TH
ที่มา: เวเบอร์ แชนด์วิค