อนาคตของความยั่งยืนด้านอาหาร

บทความโดย นายฟาบิโอ ทิวิติ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์ อาเชียน-อินเดีย

ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บริษัทต่าง ๆ จะต้องดำเนินการเชิงรุกในส่วนของตนเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าจะผ่านการร่วมมือกับภาครัฐ การใช้เครื่องมืออัจฉริยะ และการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตและการปรับตัว

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชากรที่เพิ่มขึ้น และการระบาดของโควิด-19 เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งที่กำลังมีอิทธิพลและกำลังมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบอาหารของโลก การที่บริษัททั้งขนาดเล็กและใหญ่ต้องเผชิญกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นตลอดเวลานั้น บริษัทด้านอาหารและเครื่องดื่มจำเป็นต้องถอยหนึ่งก้าวเพื่อประเมินเสียใหม่ว่าบริษัทของตนอยู่ ณ สถานะใดในเรื่องของความยั่งยืน

สำหรับเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ไม่มีโซลูชันใดโซลูชันหนึ่งที่เหมาะสมไปกับทุกธุรกิจ ในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องให้องค์กรทบทวนเรื่องผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัสดุและกระบวนการต่าง ๆ ตลอดจนวิเคราะห์ถึงวิธีที่จะสามารถเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับการดำเนินงานทุกด้านของตน

แนวทางแรกที่ควรทำคือการให้คำจำกัดความว่า ความยั่งยืนในการดำเนินงานของบริษัทคืออะไร และจะเริ่มใช้แนวทางต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกสายงานของบริษัทอย่างไร จากนั้นทำการเชื่อมโยงเส้นทางการเปลี่ยนสู่การดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนของบริษัทเข้าด้วยกัน เช่น เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่บริษัทตั้งไว้ และกรอบการดำเนินธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่วางแผนไว้ในปัจจุบัน แนวทางสุดท้ายคือการกำหนดและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเป้าหมายต่าง ๆ และวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้เร่งกระบวนการต่าง ๆ

ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน

ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญมากในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน วิธีการทำงานแบบสองประสานร่วมกันเพื่อบรรลุจุดหมายด้านความยั่งยืนนี้ เป็นแนวทางสำคัญที่จะมั่นใจได้ว่าสามารถแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อได้จริง

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนเสียตั้งแต่ต้นทางของการเกิดปัญหาเป็นการสร้างความมั่นใจว่าจะมีนโยบายและโครงการที่สนับสนุนการทำงานด้านความยั่งยืนให้กับธุรกิจต่าง ๆ และลดความสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ ธุรกิจยังต้องตระหนักว่าตนมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อลูกค้า ซึ่งพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าล้วนต้องการความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ การศึกษาจึงเป็นหัวใจหลักทั้งกับภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่แบบองค์รวม การสนับสนุนจากภาครัฐจะช่วยให้ผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มระดับแนวหน้าในอุตสาหกรรรมนี้ สามารถรวมตัวกันเพื่อจำแนกความท้าทายต่าง ๆ และหารือเกี่ยวกับโอกาสต่าง ๆ ในหลายแง่มุม เช่น การผลิตผลิตผลด้านอาหาร การผลิตในโรงงาน และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงสามารถรวบรวมนวัตกรรมการวิจัย และความพยายามต่าง ๆ ในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ด้วยกัน

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นกรณีศึกษาด้านความพยายามด้านความยั่งยืนที่เน้นความร่วมมือแบบองค์รวม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เอเชียแปซิฟิกมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาด้านความยั่งยืน ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายขององค์กรทุกขนาดต่างตระหนักถึงหน้าที่ของตนที่มีต่อส่วนรวม เช่น มาตรการด้านความยั่งยืนในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นการห้ามใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในบางรัฐของอินโดนีเซียและมาเลเซีย ตลอดจนการนำการผลิตอาหารท้องถิ่นมาใช้ในสิงคโปร์

ถึงแม้ว่าผู้บริโภคต่างพยายามเต็มที่เพื่อลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำกลับมาใช้ใหม่ และรีไซเคิล แต่ไม่มีอะไรดีไปกว่าการยับยั้งไม่ให้พลาสติกและความสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์หลุดลอดเข้ามาใน value chain เสียตั้งแต่เริ่มต้น และนี่เองที่นวัตกรรมและความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ ด้วยการใช้นโยบายและผลิตภัณฑ์ทำการแทรกแซงเสียตั้งแต่ต้นทางเพื่อสร้างความยั่งยืน

เป็นอีกครั้งที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ที่ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยบริษัทต่าง ๆ คำนวณต้นทุนการดำเนินการของทางเลือกในการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ใช้ซ้ำได้หรือย่อยสลายได้ ข้อมูลที่รวบรวมจากการวิเคราะห์เหล่านี้ขับเคลื่อนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิง (ML) จะสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ เกี่ยวกับผลกระทบของการใช้ทรัพยากรทางเลือกและกระบวนการผลิต หรือกระบวนการผลิตใด ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง

ขนาดธุรกิจไม่ใช่ปัญหา

กรณีเรื่องขนาดของผู้ประกอบการนี้ แม้แต่เกษตรกรรายย่อยก็อาจพบว่าตนอยู่บนทางแยกระหว่างความยั่งยืนและความอยู่รอด เครื่องมือที่ชาญฉลาด เช่น การใช้เซ็นเซอร์ที่ใช้ความสามารถของอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) ทำการติดตามสภาพการเจริญเติบโตของผลผลิต ลดการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง และเพิ่มผลผลิต ควบคู่กับการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ของผลผลิตที่คาดหวังไว้ และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภค จะช่วยให้เกษตรกรมีความคล่องตัวและตอบสนองต่อเงื่อนไขต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบนิเวศกับองค์กรขนาดใหญ่ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เกษตรกรรายย่อยสามารถใช้ทรัพยากรจากองค์กรใหญ่ ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทำงาน และความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายนี้จะสามารถเร่งให้เกิดนวัตกรรมที่คล่องตัวในองค์กรขนาดใหญ่ได้เช่นกัน ความร่วมมือต่าง ๆ จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับแนวทางการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุดได้อย่างสะดวก และได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

สำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับ “greenwashing” ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทใช้ประโยชน์เรื่องความยั่งยืนมาเป็นเทรนด์ในการสร้างกำไรนั้น มีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ได้วางแนวทางและข้อจำกัดในการยับยั้งการกระทำดังกล่าว ไม่ว่าจะผ่านรูปแบบการจัดการฉลากและการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือการตรวจสอบย้อนกลับที่มากขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท ซึ่งทั้งระดับความรับผิดชอบและความโปร่งใสที่สูงขึ้นล้วนเป็นผลลัพธ์และวิธีป้องกันที่ต้องการให้เกิดขึ้น

โลกที่กำลังเปลี่ยนไป

หากถามว่าโควิด-19 เผยให้เห็นความไม่มีประสิทธิภาพของระบบอาหารของโลกอย่างไรทั้งในเรื่องของการจัดหาอาหาร ความขาดแคลน และความสูญเปล่า ผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบที่ธุรกิจได้รับ คือ ธุรกิจที่มีการพัฒนาและปรับกระบวนการดำเนินงานจะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จกว่าธุรกิจอื่นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

บริษัทที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ต่างแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อสร้างความเติบโต ด้วยการบูรณาการความยั่งยืนของธุรกิจหลักทั้งหมดเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร ไม่ว่าจะผ่านการลดบรรจุภัณฑ์ ลดการสูญเปล่าในระบบซัพพลายเชน หรือการฟื้นฟูส่วนประกอบต่าง ๆ ในระบบนิเวศ

สิ่งสำคัญกว่านั้น คือบริษัทเหล่านี้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยให้เปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกำลังมองไปข้างหน้าหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเทคโนโลยีจะยังคงมีความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือและนวัตกรรมที่ทันสมัย ยั่งยืน และยืดหยุ่นให้กับทุกภาคส่วน และนำพาบริษัทต่าง ๆ สู่อนาคตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ที่มา: เอฟเอคิว