“ดีอีเอส” โชว์ตัวเลขคนไทย แชร์ข่าวปลอมมากถึง 23 ล้านคน พบสื่อมวลชนให้ความสนใจปัญหาข่าวปลอมเพิ่มขึ้น

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส เปิดสถิติเชิงลึกจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบยอดสะสมจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอมมากกว่า 23 ล้านคน อายุ 18-24 ปี หัวแถวผู้โพสต์และแชร์ข่าวปลอม อาชีพสื่อมวลชน สนใจประเด็นข่าวปลอมมากที่สุด ปูพรมสร้างการรับรู้เน้นกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่ระดับเยาวชน จนถึงเครือข่ายภาคประชาชน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากการติดตามข่าวสาร และการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมวันที่ 1 พ.ย 62 ถึง 23 ธ.ค 64 มีจำนวน ผู้โพสต์ข่าวปลอม 1,167,543 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 23,785,145 คน โดยช่วงอายุของผู้โพสต์และแชร์มากที่สุด คือ อายุ 18-24 ปี คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ขณะที่อายุ 55-64 ปี มีพฤติกรรมแพร่กระจายข่าวปลอมต่ำสุด คิดเป็น 0.1% สำหรับกลุ่มอาชีพที่สนใจประเด็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผู้สื่อข่าว คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 16.7% เนื่องมาจากเป็นกลุ่มอาชีพที่ประชาชนให้ความสนใจ และเกิดเชื่อถือในการเผยแพร่มากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มผู้จัดการ/ผู้บริหาร 9.3% และผู้ประกอบกิจการต่างๆ 8%

ขณะที่ กลุ่มอาชีพของผู้แชร์ข่าวที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อ้นดับแรก ได้แก่ กลุ่มอาชีพคุณครู อาจารย์ 14.0% ตามมาด้วย กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มอาชีพช่างภาพ 9.4% และกลุ่มอาชีพวิศวกร 7.0%

“ทั้งนี้ เราต้องขอขอบคุณสำนักข่าว และอินฟลูเอนเซอร์หลายราย ที่สนับสนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องไปยังประชาชน และสาธารณะในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง” นายชัยวุฒิกล่าว

โดยในรอบปี 64 มีรายชื่อสำนักข่าว และ Influencer ที่ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมากสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ไทยรัฐ จส.100 มติชน บางกอกโพสต์ FM91 Trafficpro ข่าวจริงประเทศไทย ฐานเศรษฐกิจ News.ch 7 โพสต์ทูเดย์ และคมชัดลึก ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (วันที่ 1 พ.ย. 62 – 23 ธ.ค. 2564) มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง 455,121,428 ข้อความ หลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 13,262 เรื่อง แบ่งเป็น โดยหมวดหมู่สุขภาพ 6,855 เรื่อง ตามมาด้วย หมวดหมู่นโยบายรัฐ 5,865 เรื่อง  หมวดหมู่เศรษฐกิจ 282 เรื่อง และหมวดหมู่ภัยพิบัติ 260 เรื่อง

ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เริ่มจัดเก็บข้อมูลการเปรียบเทียบ Trend ของหมวดหมู่ข่าวทั้ง 4 หมวด โดยระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 63 – 23 ธ.ค. 64 พบว่า หมวดนโยบาย มีแนวโน้มสูงสุด มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 53,017 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 46.77% โดยพบว่าข่าวปลอมสูง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายออกมาเพื่อเยียวยาให้กับประชาชน มียอดการพูด การสนทนา การโพสต์ บทความ ถึงนโยบายเยียวยา การแชร์ข้อมูลความถี่สูงขึ้น

รองลงมาเป็น หมวดหมู่สุขภาพ มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 29,329 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 25.87% พบว่าข่าวปลอมสูงในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่นกัน โดยคาดการณ์ในอนาคต มีแนวโน้มว่า หากมีการพบโรคระบาดใหม่ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการนำประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพการรับประทาน การรักษาด้วยตนเองมาบิดเบือนและแชร์ข้อมูล เกิดความเข้าใจผิดวนซ้ำได้อีก

ขณะที่ หมวดหมู่เศรษฐกิจ มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 15,966 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 14.09% พบข่าวบิดเบือน และข่าวปลอมในช่วงที่มีการปรับ เปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าอุปโภคและบริโภค ส่วนหมวดหมู่ภัยพิบัติ มีแนวโน้มที่จำนวนการพูดถึงเฉลี่ย 15,042 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 13.27% โดยพบข่าวปลอมสูงในบางช่วง ในสถานการณ์วิกฤต ช่วงเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ กระแสข่าวเกี่ยวกับมีผู้ประสบภัยพิบัติของทั้งในและต่างประเทศ

นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวว่า ในปี 65 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จะมุ่งเน้นกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยครอบคลุมตั้งแต่ระดับเยาวชน จนถึงเครือข่ายภาคประชาชน โดยกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษา ได้จัดกิจกรรมจัดประกวดการผลิตคลิปวีดีโอสั้น เพื่อสร้างการรับรู้เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาทีมละ 80,000 บาท เปิดรับผลงาน

ช่วง ม.ค. 65 – มี.ค 65 และประกาศผล พ.ค. 65 โดยทุกคลิปวิดีโอที่ได้รับรางวัลจะได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงบนสถานีโทรทัศน์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาข่าวและข้อมูลปลอม ที่มีการเผยแพร่ส่งต่ออยู่บนสื่อสังคมออนไลน์อยู่เป็นจำนวนมาก และมีผู้กระทำผิดอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจสอบ

พิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง และการดำเนินการติดตามตัว มาดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงได้ จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ANSCOP เพื่อให้การควบคุม กำกับดูแล สั่งการ และบริหารราชการ ให้เป็นเอกภาพ ภายใต้ยุทธศาสตร์และมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน พร้อมกันนี้ ได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคงของกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค 1-9 เพื่อให้การปฏิบัติงานครอบคลุมพื้นที่และสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาข่าวและข้อมูลปลอมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ANSCOP มีการบูรณาการประสานงานกับกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาข่าวและข้อมูลปลอมอย่างต่อเนื่อง โดยมีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย หรือ AFNC รับผิดชอบในการรับเรื่อง ติดตาม ตรวจสอบข้อมูลข่าวที่อาจมีลักษณะปลอมหรือบิดเบือนอยู่ตลอดเวลา มีการประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทุกส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อตรวจสอบและยืนยันข่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือนแล้ว ก็จะส่งต่อข้อมูลดังกล่าวมายังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และความมั่นคงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ANSCOP เพื่อดำเนินการพิจารณาความผิดตามหลักกฎหมายที่กำหนดไว้ อาทิ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หากเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายจะดำเนินการพิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำผิด เมื่อผู้เสียหายได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน ติดตามจับกุม เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ผลการปฏิบัติงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคงสำนักงานตำรวจชาติ  หรือ  ANSCOP  ในรอบ 8 เดือน ( 1 พ.ค. จนถึง  ปัจจุบัน) พบว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย  หรือ  AFNC  ได้ส่งโพสต์ที่ตรวจพบและตรวจสอบแล้วได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน  จำนวน 1193 ราย (Urls)  มีโพสต์ที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการพิสูจน์ทราบผู้กระทำผิดแล้ว  จำนวน 287 ราย (Urls)  ซึ่งมีผู้เสียหายได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ  ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว  จำนวน 53 คดี  ซึ่งอยู่ในระหว่างสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน  และทำสำนวนคดี  ส่งฟ้องตามกระบวน

การยุติธรรมต่อไป ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ดำเนินการตักเตือน ให้แก้ไขข่าวหรือลบโพสต์ จำนวน 36 ราย ตามที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่จะทำได้ในกรณีข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน ที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด 19 ที่ไม่รุนแรง อีกทั้งยังได้ขึ้นบัญชี ที่ต้องเฝ้าติดตามผู้ที่มีพฤติการณ์โพสต์ข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน จำนวน 906 ราย (Urls)

หากพบมีการโพสต์ข่าวหรือข้อมูลปลอม ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมายทันที ในขณะเดียวกันผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังมีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข่าว ของ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บช.สอท. เพื่อปบัติการชี้แจงและตอบโต้ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้หยุดเคลื่อนไหวหรือลบโพสต์ ที่ไม่ถูกต้องหรือเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยการเข้าไป ติดต่อด้วยความสุภาพ แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของข่าว ที่อาจปลอมหรือบิดเบือน ไปบนสื่อสังคมออนไลน์ในวงกว้าง โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินการแล้ว จำนวน 423 ราย (Urls) ทำให้ผู้โพสต์หยุดเคลื่อนไหวหรือมีการลบโพสต์ดังกล่าว

ฝากความห่วงใยให้แก่พี่น้องประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ระมัดระวัง หรือไม่ไตร่ตรองข้อมูลให้รอบด้าน อาจตกเป็นเหยื่อเกิดความเสียหายได้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ อย่าให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เสมือนกับ “การฉีดวัคซีนให้กับประชาชน” แต่หากมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดอาศัยใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในการกระทำความผิด ทั้งการหลอกลวงฉ้อโกง การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ปลอม หรือบิดเบือน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน สังคม เศรษฐกิจของประเทศ จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และขอฝากข้อคิดสำหรับพี่น้องประชาชน ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ว่า ขอให้ท่านระลึกอยู่ตลอดเวลา เมื่อใช้สื่ออนไลน์ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” ทุกท่านจะปลอดภัยจากการถูกฉ้อโกง หลอกลวง บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างแน่นอน

“ในปีหน้า เราจะเดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างการรับรู้ เท่าทันข่าวปลอมอย่างต่อเนื่อง และรณรงค์ต่อต้านการเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อให้ประชาชนได้ใช้งานบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัย และรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล ตลอดจนมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาข่าวปลอม สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี

ให้กับสังคม โดยเจาะกลุ่มเป้าหมาย อาทิ กลุ่มสมาคมวิทยุสื่อสาร กลุ่ม อสม. และกลุ่ม อสด.” นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว

ด้านนายสันติภาพ มงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวถึง ข่าวปลอมที่เผยแพร่มากที่สุดคือหมวดสุขภาพ มี 10 อันดับ ดังนี้

1 ข่าวปลอม เรื่อง คลิปสุดช็อค! ไวรัสโคโรน่า ทำคนล้มทั้งยืน

2 ข่าวจริง เรื่อง ถูกเห็บกัดเอาออกไม่ถูกวิธี อาจเป็นอัมพาตชั่วคราว

3 ข่าวจริง เรื่อง สาธารณสุขไทย เผยข่าวดี แพทย์ไทยรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า อาการดีขึ้น

ใน 48 ชั่วโมงหลังการรักษา

4 ข่าวปลอม เรื่อง ลือหนัก ‘คนขับรถทัวร์’ ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า รพ.ถูกสั่งปิดข่าวเงียบ เลี่ยงยอดติดเชื้อเพิ่ม

5 ข่าวปลอม เรื่อง สถานที่เสี่ยง ที่คนติดเชื้อ COVID-19 เคยไป

6 ข่าวปลอม เรื่อง พัทยาพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่า 1 ราย

7 ข่าวปลอม เรื่อง กรมควบคุมโรค หยุดใช้เครื่องตรวจวัดฯ ไวรัสโคโรน่า หลังทางการ ‘อู่ฮั่น’ สั่งปิดเมือง

8 ข่าวปลอม เรื่อง เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สามารถติดต่อผ่านการมองตาได้ ข่าวปลอม สร้างความเข้าใจผิด

9 ข่าวปลอม เรื่อง สธ.จัดโซนจังหวัดอันตรายเสี่ยง COVID-19

10 ข่าวปลอม เรื่อง ‘ไข้หวัดหมู’ ระบาดหนักในไต้หวัน ติดเชื้อเสียชีวิตกว่า 50 คนใน 3 เดือน

 

 

ที่มา: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม