ไอที 2565 สู่การขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลเต็มสูบ โดยนายสุภัค ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

ไม่นานมานี้ การ์ทเนอร์ได้เผยถึงแนวโน้มเทคโนโลยีไอทีในปี 2565 ในฐานะเครื่องมือเชิงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจยุคดิจิทัลใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ คุมเข้มความน่าเชื่อถือ (Engineering Trust) ปรับแต่งเปลี่ยนแปลง (Sculpturing Change) และเร่งสร้างการเติบโต (Accelerating Growth)

ความน่าเชื่อถือที่มาพร้อมความปลอดภัย

ความปลอดภัยของข้อมูลและกระบวนการดำเนินธุรกิจในทุกการเชื่อมต่อที่เกิดโดยคนหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ คือ เครื่องหมายการันตีความน่าเชื่อถือขององค์กรดิจิทัล ซึ่งจะเห็นว่า หลายองค์กรเลือกที่จะนำ แพลตฟอร์มคลาวด์-เนทีฟ มาใช้สนับสนุนกระบวนการทำงานออนไลน์ได้อย่างยืดหยุ่นและปลอดภัยมากขึ้น การจัดการข้อมูลที่กระจายตามจุดต่าง ๆ เนื่องจากการใช้งานออนไลน์ที่มากขึ้นให้เสมือนเป็นข้อมูลผืนเดียวกันด้วยเทคโนโลยี Data Fabric เพื่อความสะดวกในการใช้งานและกำกับดูแล นอกจากนี้ องค์กรต้องให้ความสำคัญอย่างสูงกับระบบจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่ต้องคำนึง ประเด็นความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับทั้งในและต่างประเทศ เช่น PDPA หรือ GDPR ตลอดจนมี โซลูชันบริหารจัดการความปลอดภัย ในทุกลำดับชั้นของระบบไอที ซึ่งมีความสำคัญสูงต่อการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรธุรกิจดิจิทัล

การ์ทเนอร์ กล่าวว่า เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นข้อมูล แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มการบริการต่างกระจายการใช้งานอยู่ทั้งบนคลาวด์และในดาต้าเซ็นเตอร์ ทำให้ระบบความปลอดภัยที่ทำงานแยกส่วนไม่ช่วยให้องค์กรสามารถประเมินภาพรวมได้ครบถ้วนและอาจกลายเป็นการเพิ่มช่องโหว่ให้กับภัยคุกคามเสียเอง ดังนั้น แนวคิดการพัฒนาสถาปัตยกรรมความปลอดภัยแบบ Cybersecurity Mesh โดยบูรณาการเครื่องมือความปลอดภัยแต่ละชนิดในทุกโลเคชันให้สามารถแลกเปลี่ยนความหลากหลายของข้อมูลภัยคุกคาม รวมถึงกำหนดแนวทางโต้ตอบร่วมกันได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งที่องค์กรดิจิทัลต้องการในปี 2565 โดยเฉพาะเพื่อการรับมือกับแรนซั่มแวร์ที่พุ่งเป้าการโจมตีแบบมีเป้าหมายมากขึ้นต่อระบบงานและข้อมูลสำคัญขององค์กร

ปรับแต่งการเปลี่ยนเปลงแบบอัตโนมัติ

โควิด-19 นับเป็นสถานการณ์ที่ให้บทเรียนราคาแพงสำหรับธุรกิจที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัลแบบฉับพลันทันที ทำให้หลายองค์กรต่างมองหาเทคโนโลยีที่ทำให้การพัฒนาแอปพลิเคชันหรือบริการทางธุรกิจรวดเร็วและเป็นอัตโนมัติมากขึ้น ถึงตรงนี้ เราคงพอเห็นภาพของกระบวนการแบบ DevOps ที่สามารถแบ่งปันทรัพยากรเพื่อการพัฒนาและส่งมอบแอปพลิเคชันสู่การใช้งานทางธุรกิจได้รวดเร็วมากขึ้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ซึ่งกลายเป็นอาวุธสำคัญในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งประยุกต์ไปสู่… เช่น การพัฒนาระบบตรวจสอบกระบวนการดำเนินธุรกิจหรือการทำงานของระบบไอที การเสริมประสิทธิภาพระบบการตัดสินใจของผู้บริหารให้เกิดความแม่นยำสูงสุด การต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ เป็นต้น

เร่งสร้างการเติบโตเหนือคู่แข่ง

เชื่อว่าเป้าประสงค์สูงสุดขององค์กร คือ การมีระบบไอทีที่สามารถนำพาธุรกิจยืนหนึ่งเหนือคู่แข่ง หรือยึดครองส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่การ์ทเนอร์เองเคยย้ำว่า องค์กรควรมองเทคโนโลยีให้ไกลกว่ามีไว้เพื่อปฏิบัติงานประจำวันแต่คือหนึ่งในเครื่องมือพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจ ดังที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อาทิ การพัฒนารูปแบบธุรกิจดิจิทัลที่สนับสนุน-ส่งต่อการทำงานหรือบริการจากระยะไกลให้กับพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้า การสร้างประสบการณ์เชิงบวกของพนักงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ การพัฒนาระบบจัดการตนเองแบบเรียลไทม์เพื่อลดข้อผิดพลาดอันเกิดจากการจัดการโดยมนุษย์ในกระบวนการผลิต หรือ การยกระดับการใช้งานเอไอจากการวิเคราะห์ปัญหาสู่การวิจัยพัฒนา หรือสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ เป็นต้น

วิทยาศาสตร์ข้อมูลกับธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จและความได้เปรียบทางการแช่งขันในยุคดิจิทัล แม้องค์กรจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีไอทีที่ก้าวหน้าอย่างคลาวด์ อีอาร์พี บิสสิเนส อินเทลลิเจนซ์ แอปพลิเคชันด้านการตลาด แมชชีนเลิร์นนิ่ง หรือ เอไอ แต่หากขาดเครื่องมือกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อป้อนเข้าสู่แพลตฟอร์มการทำงานเหล่านี้ ก็ยากที่องค์กรจะสามารถคาดหวังผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ 100% และนั่นคือเหตุผลที่เราต้องมี วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science)

กระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล จะช่วยองค์กรในการจัดการข้อมูลที่มีรูปแบบต่างกันให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่เป็นมาตรฐานเดียวเพื่อใช้ในการดำเนินงานหรือกระบวนการวิเคราะห์ขั้นสูงต่อไป เช่น การวางแผนกลยุทธ์การตลาดดิจิทัล บิ๊ก ดาต้า แมชชีน เลิร์นนิ่ง หรือ เอไอ โดยเริ่มต้นที่การ รวบรวม ข้อมูลจาก Log หรือ API ต่าง ๆ มา ทำความสะอาดและจัดเก็บฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าในรูปแบบ SQL และ No SQL จากนั้น ทำการ วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลและนำมากำหนดรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับใช้ทำนายผล และเมื่อ ทำนายผล เรียบร้อยแล้วก็ สื่อสาร ออกไปในรูปแบบที่เข้าใจง่าย

การตลาดที่เคลื่อนด้วยข้อมูลดิจิทัล

ปัจจุบัน องค์กรที่ต้องการจัดแคมเปญเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้าสามารถใช้เทคโนโลยีไอทีร่วมกับกระบวนการวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกจุดเชื่อมต่อการสื่อสารกับลูกค้าผ่านไอโอทีมารวมไว้ในแพลตฟอร์มจัดการฐานข้อมูลชุดเดียวกันแล้วนำมาจำแนกกลุ่มลูกค้าและกำหนดแคมเปญที่เจาะจงและตรงเป้าหมายแต่ละกลุ่ม (Personalized Campaign) ซึ่งช่วยลดการรบกวนลูกค้าในการได้รับข้อมูลที่ตนเองไม่สนใจ หรือที่พบบ่อยมากขึ้น คือ ข้อมูลที่เก็บผ่าน เทคโนโลยีระบุตำแหน่งของลูกค้า (Geofencing Technology) ร่วมกับการประมวลผลโดย เอดจ์ คอมพิวติ้ง ซึ่งช่วยให้องค์กรนำเสนอโปรโมชันได้ตรงกับสถานที่ที่ลูกค้าไป หรือทันเวลาขณะที่ลูกค้ากำลังเลือกซื้อสินค้าในร้าน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เราจะเห็นการสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อสร้างคุณค่าเชิงบวกให้กับแบรนด์ ตัวผลิตภัณฑ์และบริการ ผ่าน เอไอ หรือ แชทบอท ในการจัดการหรือปรับแต่งเนื้อหาไปตามกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันโดยอัตโนมัติ การใช้ เออาร์ หรือ วีอาร์ เพื่อสร้างการสื่อสารการตลาดแบบอินเตอร์แอคทีฟ กระทั่ง การสื่อสารผ่านการค้นหาด้วยเสียง (Voice Search) เช่น สิรี อเล็กซ่า ซึ่งต้องอาศัยฐานข้อมูลดิจิทัลขนาดใหญ่เพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงตรงนี้เราอาจจะพอได้ยินแนวคิดเรื่อง Content Atomization คือ ความพยายามแตกเนื้อหาที่ต้องการสื่อออกเป็นคอนเท้นต์ย่อย ๆ และนำเสนอด้วยรูปแบบและมุมมองที่ต่างออกไป เพื่อให้เกิดการเปิดรับที่ง่ายขึ้นและนำเสนอได้เร็ว ถูกที่ถูกเวลา หรือ ความพยายามขององค์กรในการบูรณาการข้อมูลในระบบอีอาร์พีข้ามไปสู่โซลูชัน การจัดการทรัพยากรทางการตลาด (Marketing Resource Management-MRM) เพื่อร่วมกำหนดแผนการตลาดและงบประมาณ ปรับปรุงประสิทธิภาพงานด้านการตลาดในการสร้างแคมเปญเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของแบรนด์ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีไอทีนำไปสู่ผลลัพธ์สูงสุดทางธุรกิจยุคดิจิทัล คือ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และเพื่อรักษา Customer Life Value-CLV หรือ มูลค่าทางธุรกิจที่ลูกค้ามอบให้ตลอดระยะเวลาการอุดหนุนแบรนด์สินค้าและบริการต่าง ๆ ขององค์กรไว้ให้ได้นานและมากที่สุดนั่นเอง

 

ที่มา: มายด์ พีอาร์