บทความโดย เซลินา หยวน ผู้จัดการทั่วไป หน่วยงานด้านธุรกิจระหว่างประเทศ อาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์
เมตาเวิร์ส (metaverse) คือโลกแห่งความเป็นไปได้อันไม่มีที่สิ้นสุด ที่เราเคยเห็นได้จากนวนิยายทางวิทยาศาสตร์ วิธีการง่ายที่สุดที่จะเข้าใจ metaverse ได้ดีคือการชมภาพยนตร์ฮอลลีวูดยอดนิยม เช่น Avatar และ Ready, Player One
ในภาพยนตร์เหล่านี้ metaverse คือจักรวาลดิจิทัลสามมิติที่นักแสดงสามารถหลีกหนีจากความจริงทางกายภาพ สามารถมีส่วนร่วมกับผู้อื่นผ่านตัวตนจำลองในโลกเสมือนจริง (avatar: อวาตาร์) ของตนที่สร้างขึ้นมา และสามารถหาประสบการณ์จากทุกสิ่งที่ต้องการได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงจินตนาการของมนุษย์และเทคโนโลยีเท่านั้น
นอกจาก metaverse จะเป็นคู่แฝดทางดิจิทัลของความเป็นจริงในโลกทางกายภาพที่ยอดเยี่ยมของเราแล้ว ยังมีศักยภาพที่แท้จริงซ่อนอยู่ นั่นคือความสามารถในการใช้ความชาญฉลาดทางดิจิทัลที่เราใช้ประโยชน์อยู่แล้วให้มีประสิทธิผลมากขึ้น และทำให้มองเห็นแนวทางการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ ที่ไม่เช่นนั้นก็อาจยังคงซ่อนอยู่ออกมา และนี่อาจเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาต่าง ๆ ของโลกแห่งความเป็นจริง และสร้างโลกที่เขียวชอุ่มมากขึ้น มีความเสมอภาคและมีส่วนร่วมซึ่งกันและกันมากขึ้น และเป็นโลกที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
Metaverse ไม่เพียงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโลกเวอร์ชวลที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปใช้จัดการปัญหาเร่งด่วนมากมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
การคาดการณ์ด้านต่าง ๆ จากรายงานของ Institute of Chartered Accountants in England and Wales และ British Chamber of Commerce Singapore แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสุ่มเสี่ยงมากที่สุดในโลก โดยหกในยี่สิบประเทศทั่วโลกที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศอยู่ในภูมิภาคนี้ คือ ประเทศอินโดนีเซีย ไทย เมียนมาร์ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
อุทกภัยคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 250,000 ราย และสร้างความเสียหายมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2523 คิดเป็นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว เป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อหมู่เกาะจำนวนมากตามชายฝั่งทะเลที่อยู่ในภูมิภาคนี้และที่มีพื้นที่ลุ่มต่ำ ภัยธรรมชาติเหล่านี้อาจทำลายบ้านเรือนจนอยู่อาศัยไม่ได้ และสร้างความกดดันต่อเนื่องมายังเรื่องของการจัดหาเสบียงอาหารและระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ
ในเบื้องต้นอาลีบาบา คลาวด์ ได้สร้างแพลตฟอร์มที่มีการนำข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น (nowcasting platform) เพื่อใช้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงสั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ภูมิภาคนี้สามารถควบคุมและรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสภาพอากาศได้ เทคโนโลยีที่ทำงานโดยการดึงภาพถ่ายดาวเทียมด้านอุตุนิยมวิทยาด้วยความแม่นยำสูงและในเวลาเรียลไทม์นี้ สามารถช่วยติดตามปริมาณน้ำฝน ความเร็วลม และสภาพอากาศที่รุนแรงต่าง ๆ เพื่อลดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งยังช่วยให้ผู้จัดส่งผลผลิตสามารถจัดเส้นทางการจัดส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่หากเราสามารถแปลงความชาญฉลาดนี้ให้กลายเป็น metaverse ได้ จะมีประโยชน์มหาศาล เช่น การแปลงและทำแผนที่ข้อมูลสาธารณะที่เกี่ยวกับสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดในรูปแบบต่าง ๆ หรือความถี่ของการเกิดภัยธรรมชาติให้เป็น metaverse จะช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่การเก็บข้อมูลฝนที่ตกหนักเพียงอย่างเดียวโดยลำพัง จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะเกิดน้ำท่วมรุนแรงได้เท่านั้น
ผลกระทบอันเนื่องมาจากภัยที่เกิดจากสภาพอากาศต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะเป็นเรื่องหนักหนาขึ้นมาทันที หากภัยเหล่านั้นเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยของใครสักคน เช่น ที่บ้าน หรือ ที่โรงเรียนของบุตรหลาน การสร้างสถานที่ต่าง ๆ ที่จำลองโลกจริงแบบสามมิติ (3D) ช่วยให้เราเห็นภาพภัยพิบัติจริงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละสถานที่ที่เราคุ้นเคย โดยที่เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้นบนโลกจริง ซึ่งหากเกิดขึ้นอาจถึงกับต้องแลกด้วยชีวิต ผลกระทบแบบเสมือนจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน metaverse จะเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจที่จริงจังว่ามนุษย์ควรดำเนินชีวิตและปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ปรับปรุงการดำเนินงานและการออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นไว้ในสภาพแวดล้อมและในภาคการผลิต ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
metaverse มีความเกี่ยวข้องทันทีกับเมืองต่าง ๆ ที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ การที่เราก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเทคโนโลยีคลาวด์และ IoT ต่าง ๆ มีอิทธิพลสูง metaverse จะเป็นเทคโนโลยี ที่เหมาะสมในการจัดการและทดสอบสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในอนาคต ก่อนที่จะนำไปใช้ในโลกจริง
ลองจินตนาการถึงฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงมากแห่งหนึ่งที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตได้อย่างรวดเร็ว ถอดผลการคำนวณ และแสดงผลได้แบบเรียลไทม์ ผ่านแผนที่สามมิติที่สื่อสารกันได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ฐานข้อมูลของอาลีบาบา คลาวด์ ได้คำนึงถึงเมื่อตอนสร้าง GanosBase ขึ้นมาเป็นครั้งแรก GanosBase เป็นกลไกฐานข้อมูลแบบคลาวด์-เนทีฟ ที่สามารถวิเคราะห์และแปลข้อมูล 3D และ 4D เพื่อสร้างฝาแฝดดิจิทัล ทำการจำลองโลกทางกายภาพ
ในส่วนของการสร้างสภาพแวดล้อมนั้น การใช้ประโยชน์จากความเข้าใจเชิงลึกที่จำลองมาด้วยความชาญฉลาดแบบเรียลไทม์ จะช่วยสร้างโอกาสในการผสมผสานการออกแบบที่ยั่งยืนได้ดีกว่า ผู้ออกแบบสามารถเห็นภาพเสมือนจริงของโครงสร้างในการก่อสร้างอาคารหนึ่ง ๆ ใน metaverse และนำมาใช้ประโยชน์ เช่น เพื่อหาอัตราส่วนที่ลงตัวระหว่างหน้าต่างและผนัง, ใช้แสงจากธรรมชาติให้มากที่สุด, คาดการณ์วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ว่าจะทนทานและยั่งยืนเพียงใด และเพื่อวางแผนแนวทางใหม่ ๆ ในการสร้างพื้นที่สีเขียวและอนุรักษ์ธรรมชาติ
การสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่สอดคล้องกับแผนการผลิตจริงผ่านเทคโนโลยี AR/VA และโฮโลแกรม (holographic) สามารถทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตได้ โรงงานที่มีการนำเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อถึงกัน หรืออุปกรณ์อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (Internet of Things: IoT) มาใช้ จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถจำลองการตั้งค่าการผลิตจริงใน metaverse ก่อนได้ เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานได้ฝึกฝนวิธีควบคุมการทำงานแบบเสมือนจริง และตรวจหาข้อผิดพลาดที่เกิดกับการตั้งค่าการผลิตต่าง ๆ ได้ โดยยังไม่ต้องสร้างสิ่งใดจริง ๆ เลย เช่น ในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง พนักงานที่อยู่ต่างประเทศจะได้รับการฝึกอบรมจากระยะไกล เพื่อให้ได้รู้จักและคุ้นเคยกับการทำงานแบบเสมือน ก่อนที่จะได้ทำงานกับเครื่องจักรจริง โดยไม่ต้องเสียเวลารอให้สถานการณ์ดีขึ้นจนเดินทางเข้าอบรมด้วยตนเองได้
เชาวน์ปัญญาที่เกิดใน metaverse นี้ สามารถถ่ายโอนไปยังโลกแห่งความจริงได้ เพื่อนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับ AI algorithms, เพื่อสนับสนุนการทรานส์ฟอร์มที่ชาญฉลาด และอัปเกรดโรงงานต่าง ๆ ทั้งยังใช้เพื่อทำเวิร์กช็อปและกำหนดสายการผลิตโดยไม่ต้องเสียเวลาที่ต้องเดินทางเข้าปฏิบัติงานด้วยตนเอง และลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร
เพิ่มสมรรถนะ metaverse ในอนาคต
การเพิ่มสมรรถนะให้กับสี่เทคโนโลยีเลเยอร์ของ metaverse ต้องใช้ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก เลเยอร์ที่ 1 จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี AI, คลาวด์ และ IoT ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อสร้างแบบจำลองทางเรขาคณิตของสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และแสดงผลผ่านอุปกรณ์ปลายทางที่หลากหลาย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สมจริง
เทคโนโลยีอื่น เช่น การเรนเดอร์จากระยะไกล ซึ่งทำการสตรีมอินพุตแบบเสมือนไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ และระบบการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างโลกเสมือนให้ใกล้เคียงกับโลกทางกายภาพ และทำให้มั่นใจว่าผู้คนและวัตถุในโลกเสมือนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางกายภาพที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง
การสลายแนวแบ่งเขตของโลกเสมือนและโลกจริงให้หมดไป จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี AR และ VR เพื่อสร้างแผนที่สามมิติที่มีความแม่นยำสูง ในขณะเดียวกันก็มอบประสบการณ์ที่เป็นการเฉพาะให้ด้วย เช่น การบริการลูกค้าและการให้คำแนะนำแบบเสมือน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อเชื่อมสองโลกเข้าด้วยกัน
แม้ว่า metaverse เป็นการพัฒนาที่น่าตื่นเต้น แต่ก็ชัดเจนว่าจะทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานและมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก องค์กรต่าง ๆ สามารถจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยการพิจารณาใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการออกแบบ สร้าง และดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด โดยผสานกับเทคโนโลยีหลักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การระบายความร้อนด้วยของเหลวเพื่อลดการใช้พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลเพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้า การใช้ระบบติดตามตรวจสอบที่เป็นอัตโนมัติ การบำรุงรักษาและการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานอื่น ๆ ที่ใช้พลังงานมาก
การที่เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการใช้ metaverse ที่ต้องใช้พลังงานมากขึ้น ทำให้เราต้องยึดมั่นกับแนวทางการทำงานเพื่อความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
[1] Sunk Costs: The Socioeconomic Impacts of Flooding, Marsh McLennan 150 Report
ที่มา: เอฟเอคิว