นวัตกรรมการจัดการคลังสินค้าได้รับแรงกระตุ้นจากความคาดหวังของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น

บทความโดย นายฟาบิโอ ทิวิติ รองประธาน ประจำภูมิภาคอาเชียน บริษัท อินฟอร์

ความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ธุรกิจระดับโลก และการค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้งแต่การผลิตอาหารไปจนถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้องค์กรต้องปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานด้านซัพพลายเชน ลดค่าใช้จ่าย เสริมสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนที่ต้องใช้ในแต่ละวัน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเร่งสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้เกิดจากแรงกดดันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ต้องตอบสนองต่อความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภครุ่นใหม่ ซึ่งเคยชินกับการได้รับประสบการณ์ที่ตรงตามความต้องการเฉพาะตัวของตนและที่ไหนเมื่อไรก็ได้

ความกดดันนี้ค่อย ๆ กระจายมายังวงการคลังสินค้า แม้ว่าที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมนี้ คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างจำกัดเพื่อประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ เช่น ระบบป้ายรหัสสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (Radio Frequency Identification: RFID) หรือบาร์โค้ด แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านี้กำลังจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้ สำหรับผู้เพิ่งเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ IDC รายงานว่า ในปี 2566 งานต่าง ๆ ในคลังสินค้าจะมีการใช้หุ่นยนต์ และการจัดการด้านต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากถึง 65% ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้กว่า 20% และลดเวลาในการประมวลผลคำสั่งลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง แม้ว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงให้คลังสินค้าเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมดอาจจะยังต้องใช้เวลาอีกมาก แต่เทคโนโลยีก็เป็นประโยชน์ต่องานด้านอื่น ๆ อีกมากมาย

ระบบคลังสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่กระบวนการทำงานพื้นฐานของธุรกิจคลังสินค้าในภูมิภาคนี้กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าที่ผ่านมา งานด้านโลจิสติกส์และระบบคลังสินค้าจะไม่ได้รับการจัดให้มีความสำคัญอันดับต้น ๆ ก็ตาม ทั้งนี้ การทำงานแบบดั้งเดิมซึ่งต้องพึ่งพาคนมากกว่าการนำระบบต่าง ๆ มาใช้ ทำให้องค์กรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การจ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อให้พนักงานเหล่านั้นจัดการกับความท้าทายหรือข้อติดขัดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในคลังสินค้านั้น

อย่างไรก็ตาม คลังสินค้ายุคใหม่มีจำนวนประเภทของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และต้องการเวลาในการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสมบูรณ์ครบวงจรที่สั้นลง ก็กำลังท้าทายรูปแบบการทำงานดังกล่าวข้างต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจยุคใหม่ที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น มักทำให้ระบบโลจิสติกส์มีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดพลาดมากขึ้นตามไปด้วย และอาจเป็นข้อผิดพลาดที่มีราคาแพงเกินที่จะแก้ไข ปริมาณการจัดส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกินความสามารถของพนักงานที่จะรับมือกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นได้ ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต่างตื่นตัวกับความจริงที่ว่า ถึงเวลาที่องค์กรจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกอื่น ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองได้ทันต่อความต้องการที่เข้ามายังคลังสินค้าต่าง ๆ ของตนได้

นอกจากนี้ความกดดันที่เกิดจากธุรกรรมอีคอมเมิร์ซบนช่องทางโซเชียลต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน การเพิ่มขึ้นของการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซ ทำให้ความต้องการต่าง ๆ เกิดมาจากลูกค้าโดยตรง ลูกค้าที่คาดหวังว่าจะสามารถเห็นความเป็นไปและสถานะคำสั่งซื้อของตนเองได้ทันที รายละเอียดต่าง ๆ เช่น เส้นทางการขนส่ง การบรรจุหีบห่อ และการรับประกันว่าได้จัดส่งสินค้าที่ถูกต้องตามคำสั่งซื้อนั้น มีความสำคัญมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังต้องมีระบบรองรับความผิดพลาดใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อแก้ไขให้สิ่งต่าง ๆ กลับมาถูกต้อง การที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น บริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต้องเริ่มใช้แนวคิดและวิธีการใหม่ ๆ มิฉะนั้นจะพบว่า การปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อต้องเผชิญกับความคาดหวังและปริมาณงานที่เปลี่ยนไป จะทำให้ธุรกิจตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอย่างมาก

โลจิสติกส์ในฐานะผู้สร้างความแตกต่าง
เมื่อโลจิสติกส์กลายเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้ธุรกิจได้ ธุรกิจต่าง ๆ ควรปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของระบบคลังสินค้าอย่างไร แนวคิดแบบเดิมประการหนึ่ง คือ การบริหารจัดการคลังสินค้าให้เป็นหน่วยงานเอกเทศและให้รองรับการ “อัปเกรด” ซึ่งแนวทางนี้อาจทำให้เกิดการฝึกอบรมพนักงานได้ดีขึ้น หรือแนวทางการใช้ระบบใหม่สักระบบที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการติดตามด้านโลจิสติกส์ แต่วิธีการนี้มักช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในแนวระนาบ และอาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดไว้

ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนไปใช้ป้ายรหัสสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (RFID) แทนบาร์โค้ดโดยตรงนั้น ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และส่งผลให้ต้องสแกนสินค้าเองเป็นจำนวนมากเพื่อให้ได้กำไรเพิ่มเพียงเล็กน้อย ในทางกลับกัน การนำ RFID ไปติดไว้ที่บรรจุภัณฑ์ในขั้นตอนจัดเก็บบนแท่นวางสินค้าสำหรับลากเก็บหรือลำเลียง (pallet) ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการใหม่ จะสามารถเพิ่มความแม่นยำได้โดยใช้แรงงานน้อยที่สุด ในขณะที่การใช้บีคอน (beacons) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี IoT ส่งผ่านสัญญาณบลูทูธ เพื่อสนับสนุนระบบการบริหารจัดการทรัพยากรจะช่วยประหยัดเวลาได้อย่างมาก

องค์กรที่จะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างแท้จริง ต้องไม่มองงานด้านโลจิสติกส์ว่าเป็นเอกเทศแยกจากงานอื่น การที่โลจิสติกส์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนและต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้งานด้านคลังสินค้าต้องมีบทบาทและมีส่วนร่วมทำประโยชน์ให้กับธุรกิจมากขึ้น เช่น งานประกอบสำเร็จบางประเภทสามารถทำที่คลังสินค้าได้ ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การพิมพ์สามมิติ (3D printing) ส่งผลให้คลังสินค้าแทบจะไม่ต้องผลิตงานจากการร้องขอเป็นครั้งคราวเลย

ก้าวต่อไปข้างหน้า
ตัวอย่างข้างต้น อาจจะต้องมีการประเมินความเกี่ยวข้องระหว่างการผลิตกับระบบคลังสินค้ากันใหม่ และอาจจำเป็นต้องปรับปรุงโมดูลด้านโลจิสติกส์ที่ใช้อยู่ในระบบ ERP ปัจจุบันด้วยเช่นกัน หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ ต้องปรับใช้ระบบบริหารจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System: WMS) แบบพิเศษ ซึ่งขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ทั้งนี้ WMS เป็นระบบบริหารจัดการที่สร้างจากวิธีการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยตั้งแต่ต้น สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น พร้อมการทำงานอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

โดยสรุป คลังสินค้าที่ทันสมัยสามารถทำประโยชน์อื่น ๆ ได้อีกมาก นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพและเวลาในการตอบสนองที่รวดเร็วขึ้น การมีทรัพยากรมากขึ้น มุ่งพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานด้านต่าง ๆ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ ที่จะมอบประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมให้กับลูกค้า ประสบการณ์ที่จะทำให้ลูกค้าประหลาดใจและชื่นชอบ และหากทำได้สำเร็จจะช่วยให้ธุรกิจนำหน้าคู่แข่งได้

ธุรกิจมีความรับผิดชอบที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการด้านโลจิสติกส์ มากกว่าการตั้งความหวังว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากวิธีการแบบเดิม ๆ หากพิจารณาในแง่บวกจะพบว่า ค่าใช้จ่ายของระบบดิจิทัลและระบบอัตโนมัติยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความสามารถของเทคโนโลยีดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้น ดังนั้น ถึงเวลาที่องค์กรต้องถามตัวเองว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว และเราพร้อมหรือยัง

[1] Beth Stackpole “5 Supply chain technologies that deliver competitive advantage” MT Management Sloan School”, February 14, 2020

ที่มา: เอฟเอคิว