รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ให้เกียรติเยือนบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และเข้าร่วมการประชุมออนไลน์กับนายเคน หู ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย โดยในการประชุมดังกล่าว นายอนุทินได้แสดงความขอบคุณที่หัวเว่ยให้การสนับสนุนแก่ประเทศไทยมาโดยตลอดในการพัฒนาทางด้านดิจิทัล และหวังว่าจะเสริมสร้างความร่วมมือกับหัวเว่ยทางด้านสาธารณสุข การคมนาคมขนส่ง และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน เมื่อเร็ว ๆ นี้
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ให้เกียรติเยือนบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และคณะเข้าเยี่ยมชมสำนักงานของหัวเว่ยประเทศไทย ที่จังหวัดกรุงเทพฯ ครั้งนี้ พร้อมทำความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอันทันสมัย รวมทั้งการนำไปประยุกต์ใช้งานทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี 5G, คลาวด์, AR/VR, ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS และดิจิทัลพาวเวอร์ จากนั้น นายอนุทินได้เข้าประชุมออนไลน์กับนายเคน หู ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย ซึ่งผู้ร่วมประชุมในครั้งนี้ยังประกอบด้วย ดร. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร. ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร. สมศักดิ์ อรรคศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายเจย์ เฉิน รองประธานบริษัทหัวเว่ยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ภาษิตจีนโบราณกล่าวไว้ว่า มิตรในยามยากคือมิตรแท้ ผมต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่คณะทำงานหัวเว่ยในประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง หัวเว่ยไม่เพียงสร้างมูลค่าทางธุรกิจมหาศาลแก่ประเทศไทย แต่ยังประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม การพัฒนาทางเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เช่น เทคโนโลยี 5G จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงด้านสาธารณสุข เปลี่ยนแปลงไป และจะช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางเทคนิคต่าง ๆ ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขแบบดั้งเดิม หัวเว่ยเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G ระดับโลก ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าหวังว่า จะเสริมสร้างความร่วมมือกับหัวเว่ยในด้านต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ระบบสาธารณสุข 5G ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการคมนาคมขนส่ง เพื่อร่วมกันสร้างคุณค่าให้แก่สังคมไทยต่อไป”
ภาคอุตสาหกรรมสาธารณสุขถือเป็นเรื่องสำคัญของยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และเป็นหนึ่งในด้านสำคัญที่หัวเว่ยร่วมมือกับหุ้นส่วนธุรกิจในประเทศไทยเพื่อสร้างระบบ 5G ด้วยโซลูชั่นต่าง ๆ เช่น โครงการรถยนต์ไร้คนขับระบบ 5G การตรวจวินิจฉัยโรคด้วย AI และโทรเวชกรรมระบบ 5G หัวเว่ยมีส่วนช่วยป้องกันและควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มศักยภาพบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีระบบ 5G ซึ่งจะช่วยเสริมสมดุลการพัฒนาทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขทั้งในเมืองและชนบท และเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในภาคสาธารณสุขของประเทศไทย
นายเคน หู ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย ได้กล่าวต้อนรับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนำเสนอวิสัยทัศน์ของหัวเว่ยในระยะยาว โดยได้กล่าวว่า “สำหรับหัวเว่ย ประเทศไทย นับได้ว่าเป็นตลาดต่างประเทศที่สำคัญ ความท้าทายจากเรื่องโรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลไทยได้ใช้นโยบายและมาตรการที่เข้มแข็งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตของประชาชนผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ หัวเว่ยได้ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลไทย และโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่งเพื่อค้นคว้าและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ส่วนการพัฒนาในอนาคต เทคโนโลยีดิจิทัลจะกลายเป็นเสาหลักที่สำคัญสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการกลับสู่สภาพปกติของประเทศไทยหลังเหตุการณ์โรคระบาด หัวเว่ยมั่นใจว่า ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น 5G ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางในด้านสาธารณสุขและสุขอนามัยระดับนานาชาติ โดยมีหัวเว่ยเป็นพาร์ทเนอร์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลของอุตสาหกรรมสาธารณสุขของประเทศไทย เพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในอาเซียน”
โลกอัจฉริยะอยู่ใกล้แค่เอื้อม และอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้พัฒนาไปสู่ยุคใหม่ หัวเว่ยยังคงลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสรรค์ระบบเชื่อมต่อทุกหนแห่ง ความอัจฉริยะที่ไร้ขีดจำกัด และประสบการณ์ผ่านระบบอัจฉริยะในทุกสถานการณ์ ที่จะช่วยให้ผู้คน ครอบครัว และองค์กรต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากโลกอัจฉริยะที่มีการเชื่อมโยงถึงกันได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หัวเว่ยจะยังคงผลักดันแนวคิด TECH4ALL เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมด้านดิจิทัลในประเทศไทย และในประเด็นอื่น ๆ อีกมากมาย
นับแต่ก่อตั้งบริษัทในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา หัวเว่ยได้ดำเนินการตามพันธกิจที่ว่า “เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย สนับสนุนช่วยเหลือประเทศไทย” และยังคงช่วยประเทศไทยในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล และสร้างคุณค่าทางสังคม ปัจจุบัน หัวเว่ยประเทศไทยมีพนักงานกว่า 3,000 คน 88% เป็นพนักงานในประเทศ และมีส่วนช่วยสร้างงานมากกว่า 8,500 อัตรา และเพื่อบ่มเพาะบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทย หัวเว่ยยังได้จัดตั้ง Huawei ASEAN Academy (ประเทศไทย) เมื่อปี พ.ศ. 2562 และได้จัดการฝึกอบรมแก่บุคลากรกว่า 30,000 คน และองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็กกว่า 2,000 แห่งในช่วงสองปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) ดำเนินโครงการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยี Tech4Nature เพื่อช่วยประเทศไทยปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอันทันสมัยอีกด้วย
ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์