ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ที่เคยมีก็หดหาย และภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง ธปท. เผยไตรมาส 2 ปี 2564 คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 14.27 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ต่อ GDP ส่งผลให้ความต้องการ “สินเชื่อเงินด่วน” เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะ “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” ที่ได้กลายเป็นช่องทางการเงินรูปแบบใหม่ที่มอบความสะดวกสบายและเข้าถึงได้ง่าย และมีแนวโน้มได้รับความนิยมสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วงมิถุนายนที่ผ่านมามีลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลทั่วประเทศกว่า 2 แสนราย และมียอดปล่อยสินเชื่อกว่า 2 พันล้านบาท สะท้อนถึงความต้องการด้านสินเชื่อออนไลน์และพัฒนาการของนวัตกรรมทางการเงินที่ก้าวล้ำ
เมื่อธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลเติบโตก้าวกระโดดไปสู่ยุค Cashless Lending เหล่าแก๊งมิจฉาชีพก็ปรับตัวตามเช่นกัน ปัจจุบันมีการล่อลวงออนไลน์มากมายหลายรูปแบบ แต่ที่กำลังระบาดที่มีให้เห็นบ่อยในตอนนี้คือการหลอกให้กู้เงิน ข้อมูลจาก บช.สอท. เผยว่าช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบเรื่องร้องเรียนกว่า 700 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท โดยแก๊งเหล่านี้จะใช้กลวิธีล่อลวงผู้บริโภคในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ส่ง SMS พร้อมแนบลิงค์ปลอมให้คลิก โทรมาหว่านล้อมและเสนอเงินกู้พร้อมล้วงเอาข้อมูลส่วนบุคคล หรือปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์, โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชั่นให้ดูน่าเชื่อถือ เพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคล และหลอกให้โอนเงินค่าธรรมเนียมหรือชำระดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนที่จะได้เงินต้น
ด้วยความห่วงใย ทรูมันนี่ ในฐานะผู้ให้บริการฟินเทคชั้นนำในประเทศไทย ขอนำเสนอ ‘3 สเต็ป’ เสริมเกราะป้องกัน ‘สติ’ ให้ผู้ใช้อีวอลเล็ทไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งลวงให้กู้ ดังนี้
สเต็ป 1 – พิสูจน์ตัวตนผู้ให้กู้ และเช็คให้มั่นใจว่าใช่จริง
ปัจจุบันเราสามารถเช็ครายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อต่าง ๆ ที่ได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการอย่างเป็นทางการได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท. ซึ่งรวบรวมรายชื่อบริษัทฯ ที่ให้บริการด้านสินเชื่อไว้อย่างครบครัน อาทิ รายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อที่เป็นแบงก์และนอนแบงก์, รายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และรายชื่อผู้ให้บริการระบบ Peer to Peer Lending Platform ซึ่งมีรวมกันกว่า 200 ราย แต่เห็นแค่ชื่อแล้วก็ยังวางใจเต็มร้อยไม่ได้ เพราะก็มีมิจฉาชีพที่ใช้วิธีลอกเลียนแบบโลโก้ ไปเปิดเว็บไซต์ หรือห้องแชตต่างๆ เพื่อล่อลวงเช่นกัน ดังนั้น ถ้าอยากให้ชัวร์ เมื่อสนใจบริการควรติดต่อผู้ให้บริการนั้น ๆ ผ่านช่องทางที่เป็นทางการเช่นในแอปฯ หรือฝ่ายบริการลูกค้าที่ได้รายละเอียดจาก Official website จะดีที่สุด
สเต็ป 2 – มีสติ เห็นอะไรไม่ชอบมาพากล อย่ารีบตัดสินใจ
เปรียบเทียบรายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน และระวังว่าเวลา “กิเลส” และ “ความจำเป็น” มันมาคู่กันมักจะทำให้ขาดการวิเคราะห์ แยกแยะ จนตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่ทันระวัง ดังนั้น หากรู้สึกมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ตั้งแต่การให้โอนเงินก่อนเป็นค่าธรรมเนียมในการขอกู้เงินหรือค่าดอกเบี้ยก่อนได้รับเงินต้น หรือการเสนอดอกเบี้ยที่แพงเกินกฎหมายกำหนด ไปจนถึงการขอเอกสารข้อมูลส่วนตัวที่มากมายเกินความจำเป็น ต้องตั้งสติให้ดี และอย่ารีบตัดสินใจ เพราะเหยื่อหลายคนหลงโอน แต่เมื่อรู้ว่าไม่ได้เงินต้นสักบาทก็สายไปแล้ว และบัญชีที่โอนเงินไปก็ตามตัวไม่ได้ เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้มักหลอกให้คนอื่นเปิดบัญชีมาให้อีกทอดหนึ่ง โดยการใช้ค่าตอบแทนล่อเพื่อนำมาใช้ในทางทุจริตและให้สาวถึงตัวไม่ได้
สเต็ป 3 – ต้องขอความช่วยเหลือให้เร็ว อย่ารอจนผู้ร้ายลอยนวล
บางคนที่โชคร้ายตกเป็นเหยื่อแก๊งให้กู้เงิน นอกจากจะสูญเสียเงินก้อนแล้วไม่ได้เงินกู้ หรือต้องเสียสุขภาพจิตจากการโดนก่อกวนในรูปแบบต่าง ๆ ตอนถูกทวงหนี้มหาโหด ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกแคลงใจกับเว็บไซต์หรือแอปฯ ที่หลอกกู้เงิน ขอให้รีบติดต่อหรือปรึกษากับผู้ให้บริการหรือบริษัทฯ ต้นทางเพื่อสอบถามทันที และเมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกโดยมิจฉาชีพ ให้รีบแจ้งความกับตำรวจท้องที่ หรือร้องศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือคลิกดูข้อแนะนำเมื่อถูกมิจฉาชีพล่อลวงให้โอนเงินจากทรูมันนี่
สุดท้ายนี้ ทรูมันนี่ ขอย้ำเตือนให้ผู้ใช้ระมัดระวังผู้แอบอ้างหลอกให้บริการสินเชื่อ โดยใช้ชื่อ ทรูมันนี่ หรือ แอสเซนด์ นาโน และขอแจ้งให้ทราบว่า บริษัทฯ ไม่มีนโยบายขอให้ลูกค้าโอนเงินค่าธรรมเนียมใด ๆ เพื่อสมัครสินเชื่อทุกประเภท รวมถึงการขอหมายเลขบัญชีธนาคาร หมายเลขบัตรเครดิต หรือรหัส OTP หากลูกค้าท่านใดพบการกระทำดังกล่าวที่แอบอ้างตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายการค้าหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับชื่อแบรนด์ TrueMoney โปรดแจ้งได้ที่ Call Center เบอร์ 1240 บริษัทจะดำเนินการตรวจสอบและดำเนินตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
ที่มา: เอฟเอคิว