ผู้เชี่ยวชาญ APAC เผย การเพิ่มบุคลากรที่มีทักษะ ความร่วมมือระดับภูมิภาค และความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน คือปัจจัยการสร้างขีดความสามารถทางไซเบอร์
งานอภิปรายออนไลน์ด้านนโยบายครั้งที่ 3 นำเสนอโดย Kaspersky ให้ความสำคัญกับทรัพยากรทางไซเบอร์ ช่องว่างทักษะความเชี่ยวชาญ ท่ามกลางดิจิทัลไลเซชั่นที่เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาค
ความต้องการและเป้าหมายที่แท้จริงของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการสร้างขีดความสามารถทางไซเบอร์ การศึกษา และการตระหนักรู้ คืออะไร การปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นหน้าที่ของใคร รัฐจำเป็นต้องรับภาระนี้หรือไม่
คำถามเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในงาน APAC Online Policy Forum III ของแคสเปอร์สกี้ ในหัวข้อ “Greater Cyber-resilience through Cyber Capacity Building” ที่ประกอบด้วยคณะผู้บรรยายระดับสูงจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่
- นายเคร็ก โจนส์ (Craig Jones) ผู้อำนวยการอาชญากรรมไซเบอร์ INTERPOL
- ศาสตราจารย์หลี่ หยูเซียว (Professor Li Yuxiao) รองประธานสถาบันศึกษาไซเบอร์สเปซ และเลขาธิการสมาคมความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งประเทศจีน
- ศาสตราจารย์ซึงจู คิม (Professor Seungjoo Kim) ศาสตราจารย์โรงเรียนความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งมหาวิทยาลัยเกาหลี หัวหน้าภาควิชาป้องกันภัยทางไซเบอร์ของมหาวิทยาลัยเกาหลี และคณะกรรมการการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
- นายคริส คอนเนลล์ (Chris Connell) กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้
ความสามารถในการเตรียมตัวและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber-resilience) ของประเทศมักถูกจำกัดด้วยความรู้ความชำนาญด้านทรัพยากรบุคคลและคุณภาพของความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค ดังนั้นผู้บรรยายได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับช่องว่างด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกควรดำเนินการ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างเร่งด่วน
นายคริส คอนเนลล์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “ในขณะที่เราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วในยุคไซเบอร์ เราก็เผชิญกับความท้าทายที่สร้างความตึงเครียดเรื่องทรัพยากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เช่นกัน การลงทุนในผู้มีความสามารถทางไซเบอร์ การส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย และการศึกษาดิจิทัลสำหรับผู้ใช้ เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการสร้างสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลที่สามารถเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้”
ผลการศึกษาหลายชิ้นที่เผยแพร่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ระบุถึงช่องว่างทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของดิจิทัลไลเซชั่นอย่างรวดเร็วในภูมิภาค ซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตามที่นายเคร็ก โจนส์ จาก INTERPOL ได้เน้นในการบรรยายนี้
นายเคร็ก โจนส์ กล่าวว่า “ด้วยภัยคุกคามทางไซเบอร์และกิจกรรมของอาชญากรไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อชุมชน จึงจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ หนึ่งในความท้าทายหลักที่ INTERPOL ระบุก็คือ ช่องว่างด้านความสามารถและขีดความสามารถทางไซเบอร์ในการบังคับใช้กฎหมายในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ในขณะที่เครือข่ายอาชญากรไซเบอร์นั้นสามารถขยายโครงสร้างพื้นฐานและกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายจะต้องเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ อยู่นอกเหนือข้อจำกัดเรื่องภาคส่วนและอาณาเขต การทำงานจะต้องร่วมมือกัน ครอบคลุมและเปิดกว้าง จะช่วยให้เราลดช่องว่างและเชื่อมความสามารถและขีดความสามารถ เพื่อเอาชนะความท้าทายนี้”
ศาสตราจารย์หลี่ หยูเซียว รองประธานสถาบันศึกษาไซเบอร์สเปซ สนับสนุนประเด็นของนายเคร็ก โจนส์ ในแง่การมุ่งเน้นไปที่การร่วมกันในระยะยาวเพื่อสร้างชุมชนที่มีอนาคตในโลกไซเบอร์ร่วมกัน
ศาสตราจารย์หลี่ยังระบุด้วยว่า “การสร้างขีดความสามารถทางไซเบอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกควรมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานของเครือข่าย ตื่นตัวต่อความท้าทายที่เกิดจากการรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และเสริมสร้างการพัฒนาระบบการฝึกอบรมบุคลากร ด้วยภูมิภาคนี้ยังอยู่ในช่วงของอุตสาหกรรม 4.0”
ด้วยต้นทุนการผลิตต่ำ ฐานอุตสาหกรรมที่กว้างขวาง และการสนับสนุนที่มากขึ้นจากรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภูมิภาคนี้จึงสุกงอมพร้อมจะเป็นศูนย์กลางและตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ในอีกห้าปีข้างหน้า ศาสตราจารย์ซึงจู คิม คณะกรรมการการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของเกาหลีใต้ กล่าวถึงเรื่องราวความสำเร็จที่ประเทศต่างๆ เริ่มเพิ่มนโยบายและกฎระเบียบด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ควบคู่ไปกับแรงผลักดันที่เข้มข้นไปสู่สังคมที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น
ศาสตราจารย์คิมตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อเราเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ในสหภาพยุโรป กฎระเบียบด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของยานยนต์จะมีผลบังคับใช้สำหรับรถยนต์ใหม่ทุกคันที่ผลิตตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2024 และเนื่องจากความสำคัญของความปลอดภัยทางไซเบอร์ครอบคลุมทุกภาคส่วน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจึงถูกกำหนดให้มีความรู้เฉพาะทางเชิงลึกมากกว่าที่เคย ถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดถึงโครงการพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยที่เชี่ยวชาญในแต่ละภาคอุตสาหกรรม”
สำหรับแคสเปอร์สกี้ บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก นับตั้งแต่ที่แคสเปอร์สกี้ร่วมเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ของ INTERPOL ในปี 2019 แคสเปอร์สกี้ได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการต่อสู้กับอาชญากรไซเบอร์ โดยให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรบุคคล การฝึกอบรม และข้อมูลวิเคราะห์ภัยคุกคาม (threat intelligence) เกี่ยวกับกิจกรรมล่าสุดของอาชญากรไซเบอร์
แคสเปอร์สกี้คำนึงถึงช่องว่างด้านความสามารถในภูมิภาค และได้ขยายโครงการฝึกงาน SafeBoard ที่ได้รับความนิยมสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีนี้อีกด้วย โครงการนี้ได้ช่วยให้ผู้สมัครจากสิงคโปร์สามารถเลือกตำแหน่งงานทางเทคนิคและงานด้านอื่นที่หลากหลาย และเปิดกว้างในอุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่กำลังเติบโต
ที่มา: พิตอน คอมมิวนิเคชั่น