“พล.อ.ประวิตร” ประธานบอร์ดกองทุนดิจิทัล อนุมัติผ่านโครงการสำคัญที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนดิจิทัล ปี 64 รวม 46 โครงการ พร้อมรับทราบผลการดำเนินงานกองทุนดิจิทัลที่เดินหน้าตามเป้าหมายปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดกองทุนดิจิทัล) ครั้งที่ 4/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วม
พล.อ.ประวิตรฯ กล่าวว่า จากที่ประชุมในวันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 26 (1) และ (2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ภายใต้กรอบนโนบาย 6 ด้าน ซึ่งในปีนี้มีคำขอรับทุนฯ ยื่นเสนอเข้ามาจำนวน 649 โครงการ มีโครงการที่ไม่ผ่านตามระเบียบคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ข้อ 36 จำนวน 40 โครงการ คงเหลือโครงการที่ต้องพิจารณาจำนวน 609 โครงการ โดยโครงการหรือกิจกรรมการที่ได้รับการอนุมัติแบ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมฯ ที่มีวงเงินเกินกว่า 10 ล้านบาท จำนวน 32 โครงการ และโครงการหรือกิจกรรมฯ ที่มีวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท จำนวน 14 โครงการ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาอนุมัติโครงการตามมาตรา 26 (3) (4) (6) ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ให้นโยบายในการดำเนินงานสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนว่า การดำเนินโครงการจะต้องเป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนด และสามารถบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองประธานกรรมการ กล่าวเสริมว่า การเปิดรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นี้ ได้กำหนดกรอบวงเงินทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท ภายใต้กรอบนโนบาย 6 ด้าน ได้แก่ ด้าน Digital Manpower ด้าน Digital Technology ด้าน Digital Health ด้าน Digital Agriculture ด้าน Digital Government & Infrastructure และ ด้าน Digital Agenda เพื่อให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลของประเทศที่ครอบคลุมในทุกด้าน ส่งผลให้เกิดการผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และลดช่องว่างทางสังคม ช่วยให้เกิดความรู้และทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมกับบุคลากรทุกกลุ่ม และ พัฒนากระบวนการทำงานและการให้บริการของภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อไป
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกรรมการ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการที่เสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ พิจารณาในวันนี้ ได้ผ่านการพิจารณารายละเอียดตามหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือและการให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนา จากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการและคณะทำงานวิเคราะห์โครงการ เพื่อให้ได้โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศในทุกด้าน เพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการสาธารณะและไม่เป็นการแสวงหากำไร โดยไม่เป็นการทำลายการแข่งขันอันพึงมีตามปกติวิสัยของกิจการภาคเอกชน ซึ่งการสนับสนุนนี้จะครอบคลุมผู้พัฒนาในทุกกลุ่มทั้งหน่วยงานของรัฐเอกชน และบุคคลทั่วไป
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมวันนี้นอกจากจะมีการพิจารณาโครงการที่เปิดรับการสนับสนุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แล้ว คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ยังได้รับทราบและติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยกองทุนฯได้ดำเนินการตามตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2564 ที่กำหนดโดยกรมบัญชีกลาง ซึ่งผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ดี โดยจะเห็นได้จากระดับความสำเร็จในการติดตามประเมินผลโครงการที่กองทุนฯ ให้การสนับสนุนมาตรา 26 (1) (2) และ (4) ได้ร้อยละ 100 และผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีบัญชี 2564 โดยมีภาพรวมความพึงพอใจอยู่ที่ร้อยละ 4.32 จากคะแนนเต็มร้อยละ 5 ทั้งนี้ กองทุนฯ ยังสามารถเบิกจ่ายงบประมาณโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ตามมาตรา 26 (1) (2) และ (6) ในภาพรวมไปแล้วกว่าร้อยละ 80 (ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2564) นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้พิจารณาผลการดำเนินงานตามมติของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบของกองทุนฯ เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนดิจิทัลฯ มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น แต่ไม่ขัดกับระเบียบคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ นางวรรณพรฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งในรูปแบบของการวิจัยและพัฒนา โดยอาศัยหลักของความโปร่งใส และชัดเจนในทุกขั้นตอนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผลที่ได้รับจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนมีความคุ้มค่าสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะและต่อการพัฒนาของประเทศต่อไป
ที่มา: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม