เมื่อ “สถานที่ทำงาน” ไม่ได้หมายถึงตึกออฟฟิศอีกต่อไป แต่หมายถึง “พนักงาน” และ “วัฒนธรรมองค์กร” ที่แข็งแกร่ง การสร้าง Happy Digital Workplace หรือ สถานที่ทำงานแบบดิจิทัลอย่างเป็นสุข คือความท้าทายครั้งใหญ่ของหลายองค์กรที่ต้องดูแลความเป็นอยู่ของเหล่ามนุษย์ออฟฟิศที่ต่างกำลังประสบภาวะ Burn Out ในช่วงเวิร์คฟอร์มโฮมที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ เช่นเดียวกันกับ LINE ประเทศไทย ที่มีแนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรแบบ LINER-Centric โดยมีหัวใจสำคัญคือ การรับฟังความต้องการของชาว “ไลน์เนอร์” และการให้ความสำคัญกับสุขภาวะ (Wellbeing) ของพนักงานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ LINE จึงได้เดินหน้าปรับกลยุทธ์ดูแลพนักงาน ให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้าง Happy Digital Workplace ที่ยั่งยืนและคงไว้ซึ่งความใส่ใจ (Human Touch) บนโลกออนไลน์ ซึ่งจะกลายเป็นไลฟ์สไตล์และวิถีการทำงานแห่งอนาคตต่อไป
ถอด 5 กลยุทธ์ สร้าง Happy Digital Workplace สไตล์ LINE ประเทศไทย
- ระบบรองรับคล่องตัว สื่อสารทั่วถึง – อุปกรณ์การทำงาน เป็นสิ่งสำคัญสิ่งแรกของการปรับเข้าสู่นโยบาย Work from Home พนักงานสามารถยืมอุปกรณ์ออฟฟิศทุกชิ้นไปใช้ที่บ้านได้ ทั้งโน้ตบุ๊ค จอมอนิเตอร์ เก้าอี้ทำงาน พร้อมระบบอินทราเนตที่อนุญาตให้ล็อกอินเข้าถึงข้อมูลงานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย และมีการเพิ่มช่องทางการสื่อสาร Employee Communication ที่ทั่วถึงและสม่ำเสมอผ่าน LINE Official Account ของบริษัทฯ สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สะดวก ไม่สะดุดแม้อยู่บ้าน
- ดูแลกายและใจ – การมีสุขภาพกายและใจดี คือจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานดีๆ ได้ ดังนั้นนอกจากระบบประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมถึงการรักษา “โควิด-19” LINE ยังจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มให้แก่พนักงานที่ต้องการรับ และให้คำแนะนำและข้อมูลที่เกี่ยวกับโควิด-19 อาทิ การทำ Home Isolation, การบริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) พบแพทย์ออนไลน์ได้ทั้ง โรคทั่วไปและโรคเรื้อรัง และการจัดคลาสออกกำลังกายออนไลน์ทุกสัปดาห์ ในด้าน “จิตใจ” พนักงานสามารถใช้บริการ OOCA เพื่อปรึกษาสุขภาพจิตกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ อาการเครียดและอาการ Burn Out จากการทำงาน
- ความสัมพันธ์ต้องไม่แผ่ว – เป็นเรื่องยากที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับแผนกทรัพยากรบุคคลในการรักษาและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กรในช่วง WFH ไม่เพียงแต่กิจกรรมออนไลน์ ที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำให้พนักงานได้ร่วมสนุกและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสนุกสนาน ยังมีกิจกรรมออฟไลน์ต่างๆ ที่ถูกเลือกสรรและจัดส่งเป็นของขวัญในคอนเซ็ปต์ต่างๆ ไปให้พนักงานถึงบ้าน อย่างสม่ำเสมอ อาทิ ชุดปลูกต้นไม้ ชุดทำแพนเค้ก ฯลฯ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความ “ใส่ใจ” ที่จะยึดโยงพนักงานกับองค์กรเข้าด้วยกัน
- ประเมินและพูดคุย สม่ำเสมอ – แม้จะไม่ได้พบเจอกันในการทำงาน การฟีดแบกและประเมินผลงาน เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาประสิทธิภาพการทำงาน LINE ได้เพิ่มระบบ “p-talk” ในส่วนของ LINER’s Continuous Performance Management ให้พนักงานสามารถอัปเดตผลงานและได้รับฟีดแบ็คการทำงานจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานแบบเรียลไทม์และต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตกหล่นตอนสิ้นปี นอกจากนี้ ยังมีการทำแบบประเมิน Employee Engagement Survey เพื่อวัดความสัมพันธ์และพึงพอใจในงาน เพื่อนร่วมงาน เจ้านายและองค์กรทุกไตรมาส เพื่อประเมินดัชนีความสัมพันธ์อยู่เสมออีกด้วย
- การเสริมทักษะ ต้องไม่ให้ขาด – อีกหนึ่งวัฒนธรรมสำคัญของ LINE ประเทศไทย คือ WOW Sharing ซึ่งเป็นคลาสออนไลน์ในการเสริมทักษะการทำงานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้าน Soft Skill ซึ่งมีการปรับและเพิ่มหัวข้อให้เหมาะกับสถานการณ์และความต้องการของพนักงานยิ่งขึ้นในช่วง WFH อาทิ การสื่อสารเพื่อสร้างความประทับใจในที่ทำงาน, การดำเนินชีวิตด้วยแนวคิดอิคิไก, การป้องกันพฤติกรรมที่เป็นพิษในที่ทำงาน, วิธีการเอาชนะอาการ Burn Out ฯลฯ รวมถึง คลาสเรียนภาษาที่สามที่พนักงานสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจอีกด้วย
การสร้าง Happy Digital Workplace สไตล์ LINE ประเทศไทย จึงไม่ใช่เป็นเพียงการพัฒนา ระบบออนไลน์เพื่อเอื้อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการคำนึงถึง Wellbeing ของพนักงานเป็นสำคัญ ซึ่งยืดหยุ่นและสอดรับกับสถานการณ์จริงที่เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็วได้ตลอดเวลา
ที่มา: เวิรฟ