ดีอีเอส เตือนข่าวปลอม อย่าแชร์! วัคซีน Pfizer มีส่วนผสมของแม่เหล็ก ทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายในอีก 1-2 ปี ย้ำวัคซีนไฟเซอร์โควิด-19 ไม่มีส่วนผสมที่เป็นโลหะเป็นส่วนประกอบหรือสารออกฤทธิ์

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารถึงประเด็นเรื่อง วัคซีน Pfizer มีส่วนผสมของแม่เหล็ก ทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายในอีก 1-2 ปี ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ

ในกรณีการเผยแพร่ข้อมูลโดยระบุว่าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตวัคซีนที่ห้ามใช้ในคน แต่นำไปใช้ผลิตในวัคซีน Pfizer, Moderna ดร. ที่ทำงานวิจัย ขอร้องห้ามฉีดเพราะมีส่วนผสมของแม่เหล็ก อาจมีผลกระทบต่อร่างกายในอีก 1-2 ปี ภายหน้านั้น ทางบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชี้แจงว่าวัคซีนไฟเซอร์โควิด-19 ไม่มีส่วนผสมที่เป็นโลหะเป็นส่วนประกอบหรือสารออกฤทธิ์ และวัคซีนไม่สามารถทำให้เกิดการตอบสนองทางแม่เหล็กเมื่อฉีดเข้าไปตามที่กล่าวอ้างได้

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pfizer.co.th หรือแหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข

ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม เพราะในปัจจุบันนี้มีข่าวปลอมในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกวัน การกระทำของผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

 

ที่มา: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม