ความไม่แน่นอนของดิน ฟ้า อากาศ ส่งผลให้เกษตรกรของไทยเสียโอกาสที่จะได้ผลผลิตแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าจากแรงงานที่ลงทุน และยังส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยติดกับดักอยู่กับการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคง และยกระดับเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกรในประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงได้เดินหน้าส่งเสริมสตาร์ทอัพในเมืองไทย ผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งการให้ทุนและการให้องค์ความรู้ เพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเกษตร ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีที่ดีและทันสมัย เข้ามาแก้ปัญหาความไม่แน่นอนหลาย ๆ ด้านที่เกษตรกรต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านฤดูกาล ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หรือการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร
เพื่อให้เกษตรกร และผู้ที่สนใจได้รู้จักนวัตกรรมที่ล้ำสมัย วันนี้เราจะพาไปเปิดความว้าวจาก 3 สตาร์ทอัพ ผู้พัฒนา “ดีพเทค” ด้านเกษตรกรรมที่สามารถช่วยพี่น้องเกษตรกรให้รอดพ้นจากสภาพปัญหาความไม่แน่นอน พร้อมเปิดมิติใหม่ทางนวัตกรรมที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมหลักของประเทศก้าวไปสู่ทิศทางที่ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มกันที่ ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานกรรมการ บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ผู้ริเริ่มโครงการระบบวิเคราะห์การเจริญเติบโตของอ้อยด้วยโดรนแบบ TAILSITTER เล่าว่า จากปัญหาผลผลิตตกต่ำของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่พบว่า ในแต่ละปีเกษตรกรได้ผลผลิตจากการปลูกอ้อยต่ำมาก ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยพบว่าปัญหาที่ส่งผลให้ผลผลิตในแต่ละปีต่ำกว่าที่ควรจะเป็น คือเกษตรกรวางแผนการตัดอ้อยในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสมทำให้ค่าน้ำตาลในต้นอ้อยต่ำกว่าค่ามาตรฐาน จนเกษตรกรขายอ้อยได้ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน รวมไปถึงการที่เกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบจุดที่อ้อยล้มและไม่เจริญเติบโตได้ เนื่องจากการปลูกอ้อยแต่ละครั้งจะปลูกเป็นจำนวนหลายไร่ การใช้แรงงานคนในการตรวจสอบไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้แต่ละปีเกษตรกรไร่อ้อยได้รับผลผลิตไม่มากพอ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาที่เกษตรกรกำลังเผชิญ ทางบริษัทจึงได้ทำระบบการวิเคราะห์การเจริญเติบโตของอ้อยด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกษตรไม่สามารถทำได้ด้วยตาเปล่า
โดยการทำงานของระบบจะใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายโดยโดรน ซึ่งมีความละเอียดสูงทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่ส่งผลให้อ้อยเจริญเติบโตได้ไม่ดีพอ รวมไปถึงตรวจหาบริเวณที่อ้อยล้มหรือไม่เจริญเติบโตเพื่อทำการปลูกทดแทน โดยปกติเกษตรกรจะไม่สามารถมองได้จากระดับสายตา เนื่องจากอ้อยที่โตแล้วจะสูงถึง 2-3 เมตร ดังนั้นการใช้ภาพถ่ายมุมสูงจากโดรนจึงสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างดี ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการทดลองใช้ระบบนี้ในพื้นที่จ.อุทัยธานี และจ.ขอนแก่น โดยมีพื้นที่ที่ใช้บริการเฉลี่ยแล้วกว่า 50,000 ไร่ และพบว่าเกษตรกรสามารถส่งอ้อยไปขายได้ราคาดีมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทคาดหวังว่าระบบนี้จะช่วยให้เกษตรกรรมเพาะปลูกอ้อยมีความแม่นยำ สามารถช่วยเพิ่มปริมาณของผลผลิตต่อพื้นที่ รวมไปถึงสามารถกะระยะเวลาในการตัดอ้อยได้อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในประเทศไทยได้ดีมากยิ่งขึ้น
ต่อกันที่ นางสาวรัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ลิสเซินฟิลด์ จำกัด ผู้ริเริ่มระบบบริหารจัดการการเพาะปลูกข้าวแบบรวมกลุ่มด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีและภาพถ่ายจากดาวเทียม กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากปัญหาของเกษตรกรที่ปลูกข้าวและมักจะได้ผลผลิตต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลทำให้เราพบว่า สภาพดินเป็นตัวแปรหลักในการสร้างผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นทางบริษัทจึงได้มีการวางแผนตรวจสอบสภาพดินผ่านระบบฟาร์ม AI ให้แก่เกษตรกรที่ทำนาข้าว โดยการเก็บตัวอย่างดินและนำมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อหาว่าดินในที่นาแต่ละแปลงของเกษตรกรจะต้องปรุงดินอย่างไรให้เหมาะสม นอกจากการตรวจสภาพดินแล้ว ทางบริษัทได้มีการเก็บบันทึกข้อมูลพร้อมทั้งจัดทำโมเดล เพื่อทำการวิเคราะห์และพยากรณ์สภาพอากาศ ประเมินประสิทธิภาพการเจริญเติบโตแบบอัตโนมัติ วิเคราะห์ข้อมูลกรณีฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำในดินจากน้ำฝน รวมไปถึงมีระบบการเตือนอัตโนมัติในพื้นที่ที่การเจริญเติบโตต่ำด้วยระบบ AI ซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นช่วยให้เกษตรมีข้อมูลมากพอสำหรับนำไปวางแผนเพราะปลูกข้าวได้อย่างเหมาะสมมากกว่าการคาดคะเนจากประสบการณ์ของตัวเกษตรกรเอง
โดยปัจจุบันได้มีการทดลองใช้ระบบนี้กับเกษตรกรที่ปลูกข้าวในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีที่นาเข้าร่วมการทดสอบประมาณ 200 ไร่ มีทั้งเกษตรกรที่ทำนาข้าวแบบดั้งเดิม และเกษตรกรที่ทำนาข้าวแบบอินทรีย์ เป้าหมายหลักในการทำโครงการครั้งนี้ทางบริษัทคาดหวังว่าจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกระบวนการทำนาข้าวให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่การเริ่มต้นปลูกข้าวไปจนถึงการหาช่องทางการจำหน่ายใหม่ ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการเกษตรกรรมไม่ว่าจะเป็นการซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ข้าว สารเคมี ให้ได้ประมาณ 20 % จากรายจ่ายเดิมที่เกษตรกรต้องจ่าย สำหรับช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลนั้น ผู้เพาะปลูกสามารถเข้าถึงได้ทางแอปพลิเคชันฟาร์มเอไอ-เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ นอกจากนี้ระบบยังมีการเก็บและรายงานข้อมูลผ่านบน Web Dashboard สำหรับให้วิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ เกษตรจังหวัดได้เข้าไปไปใช้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการปลูกข้าวเพื่อนำไปวางแผนในการเพิ่มผลผลิตและมูลค่าให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาข้าวต่อไป
ปิดท้ายกันที่บริษัทสตาร์ทอัพ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ใบไม้-รีคัลท์ แอปพลิเคชันที่จะช่วยเกษตรกรจัดการกระบวนการเพาะปลูกอย่างครบวงจร โดยนายอุกฤษ อุณหเลขกะ กรรมการผู้จัดการบริษัท รีคัลท์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตนเองและทีมต้องการเห็นเกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะจากการหาข้อมูลก่อนที่จะเริ่มทำสตาร์ทอัพ พบว่ามูลค่าการเกษตรในประเทศไทยสูงมาก และประเทศไทยมีคนประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากกว่า 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ทำไมเกษตรกรยังคงมีรายได้ต่ำกว่าอาชีพอื่น ๆ ดังนั้นตนจึงอยากยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีเหมือนในต่างประเทศ โดยทางบริษัทจึงเริ่มต้นเก็บข้อมูล และศึกษาปัญหาที่เกษตรกรไทยจะต้องเผชิญทุกปี ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาสภาพอากาศเป็นตัวแปรสำคัญในการทำเกษตรกรรม รวมไปถึงช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลด้านการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน ใบไม้-รีคัลท์ ขึ้นมา เพื่อช่วยเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกตั้งแต่ต้นทาง โดยเริ่มจากการเช็คปริมาณฝนซึ่งแอปฯสามารถคำนวณได้ล่วงหน้านานกว่า 9 เดือน การวิเคราะห์ปัญหาที่เกษตรกรจะต้องเผชิญในแต่ละช่วงฤดู ไปจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวและขายสินค้าทางการเกษตร โดยเกษตรกรสามารถบริหารจัดการกระบวนการทำการเกษตรผ่านแอปพลิคชันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นายอุกฤษ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้ามาใช้บริการแอปพลิคชันมากกว่า 4 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ทำพืชไร่ เช่น นาข้าว ไร่อ้อย มันสำปะหลัง และจากการติดตามผลพบว่าระบบสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้มากขึ้นกว่า 30 % นอกจากนี้ระบบยังมีการเก็บข้อมูลของเกษตรกร และเชื่อมโยงข้อมูลกับโรงงานอุตสาหกรรม หรือธนาคาร เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างถูกกฎหมาย เกษตรกรไม่ต้องอาศัยการกู้เงินนอกระบบเพื่อมาลงทุน นอกจากนี้ ในอนาคตยังจะมีการขยายบริการด้านการเกษตรให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อปุ๋ยผ่านแอปพลิเคชัน การเรียกใช้งานโดรนฉีดพ่น และช่องทางการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบอีคอมเมิร์ซได้ด้วย
เรียกได้ว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติฯ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีการส่งเสริมสตาร์ทอัพและเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าจากการส่งเสริมที่ดีเหล่านี้ จะช่วยยกระดับกระดูกสันหลังของชาติให้มีความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมทั้งช่วยยกระดับเกษตรกรรมไทยให้ก้าวไปสู่แนวหน้าในเวทีโลกได้อย่างแน่นอน
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์