มหาวิทยาลัยชูบุ (Chubu University) และ เอเอสจี เซมิคอนดักเตอร์ (ASG Superconductors) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเร่งการพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีสายเคเบิลตัวนำยิ่งยวด (superconducting cable) สำหรับการส่งไฟฟ้ากระแสตรงในระยะทางไกล
ในขณะที่เราก้าวสู่โลกสีเขียวและยั่งยืนมากขึ้นนั้น คาดว่าสายเคเบิลตัวนำยิ่งยวดจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในโครงข่ายไฟฟ้า เมืองอัจฉริยะ และท่าเรือสีเขียว ตลอดจนพื้นที่และกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามาก ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากระบบจ่ายไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า
โดยส่วนใหญ่แล้ว การส่งพลังงานในระยะทางไกลจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งจากขนาดพื้นที่ในการวางสายส่ง และความร้อนของดินอันเนื่องมาจากการสลายพลังงาน อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีตัวนำยิ่งยวดจะช่วยจำกัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ใช้ปริมาณวัสดุและขนาดพื้นที่ลดลงถึง 10 เท่า) และไม่ก่อให้เกิดการสูญเสีย ทั้งยังลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและการดำเนินงานลงอย่างมาก
มหาวิทยาลัยชูบุ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ได้ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการส่งไฟฟ้ากระแสตรงผ่านตัวนำยิ่งยวดมากว่า 15 ปี เพื่อการนำไปใช้งานจริงในสังคม รวมถึงการก่อสร้างและการทำงานของสายส่งไฟฟ้ากระแสตรงระดับ 1,000 ม. ที่ยาวที่สุดในโลก และสายส่งความยาว 500 ม. ที่ส่งพลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต
เอเอสจี มีประสบการณ์ 60 ปีในการพัฒนาแม่เหล็กตัวนำยิ่งยวด รวมถึงระบบและอุปกรณ์สำหรับฟิสิกส์พลังงานสูง (High Energy Physics) พลังงานฟิวชัน และการใช้งานทางการแพทย์ เช่น เครื่อง MRI บริษัทกำลังสำรวจสภาพตัวนำไฟฟ้ายิ่งยวดรูปแบบใหม่ ๆ ด้วยการใช้วัสดุตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิสูง (High Temperature Superconducting) และ MgB2 เพื่อให้ได้โซลูชันที่คุ้มค่าสำหรับระบบควบคุมคุณภาพไฟฟ้าและอุตสาหกรรม
ศาสตราจารย์โมโตจิมะจากมหาวิทยาลัยชูบุ กล่าวว่า “ผมเชื่อมั่นว่าการรวมประสบการณ์ ความรู้ และความพยายามอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยชูบุและเอเอสจีเข้าด้วยกันนั้นจะทำให้เราสามารถสร้างนวัตกรรมในระบบโครงข่ายไฟฟ้าสำหรับสังคมคาร์บอนต่ำได้ภายในเวลาไม่กี่ปี ผมคาดหวังว่าความร่วมมือในด้านทรัพยากรและความเชี่ยวชาญนี้จะก่อให้เกิดการผนึกกำลัง อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อการบรรลุเป้าหมายของเราซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมทั่วโลก“
“ข้อตกลงนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะสนับสนุนจุดยืนของเราในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสายเคเบิลตัวนำยิ่งยวด” แซร์โจ ฟรัตตินี ซีอีโอของเอเอสจี เซมิคอนดักเตอร์ กล่าว “ความร่วมมือที่ประสบผลสำเร็จกับพันธมิตรที่ทรงเกียรติและมีความเชี่ยวชาญอย่างมหาวิทยาลัยชูบุ จะทำให้เอเอสจีมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเดินหน้าสำรวจและพัฒนาวัสดุตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิสูง ตลอดจนสายไฟและระบบสำหรับการกักเก็บพลังงานสีเขียว การขนส่ง และกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง”
วิดีโอ – https://mma.prnewswire.com/media/1558969/ASG_and_Chubu_video.mp4
รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1558956/ASG_Superconductor_Cable_Technology.jpg
โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/1558955/ASG_Logo.jpg
โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/1558954/Chubu_University_Logo.jpg