บาเซโลนา, สเปน (29 มิถุนายน 2564) – ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Mobile World Congress (MWC) 2021 งานสำคัญประจำปีในแวดวงโทรศัพท์มือถือระดับโลกที่ทุกคนต่างตั้งตารอคอย โดยในปีนี้ ซัมซุงได้ชูจุดเด่นด้านนวัตกรรมที่จะมาเติมเต็มประสบการณ์ด้านการใช้งาน ผ่าน One UI Watch เพื่อการเชื่อมต่อที่ลื่นไหลยิ่งขึ้นกว่าเดิม พร้อมตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของสมาร์ทโฟน รวมถึงความมุ่งมั่นเรื่องเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนเพื่อโลกที่ดีกว่าในอนาคต
แพลตฟอร์มแบบครบวงจรและ One UI ใหม่สำหรับสมาร์ทวอทช์
ซัมซุงได้ร่วมมือกับ Google เพื่อเตรียมที่จะรวมสิ่งที่ดีที่สุดจากสองแพลตฟอร์มด้านอุปกรณ์สวมใส่ อย่าง Tizen และ Wear OS มาไว้ภายใต้แพลตฟอร์มเดียว ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศของแอปพลิเคชันต่างๆ กว้างขึ้น พร้อมเพิ่มเติมประสิทธิภาพอันทรงพลัง รวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานกว่าเดิม จากแผนพัฒนาดังกล่าว ผู้ใช้จะได้เพลิดเพลินกับหลากหลายแอปพลิเคชันจาก Google ได้โดยตรงผ่าน Samsung Galaxy Watch ไม่ว่าจะเป็น Google Maps, YouTube Music และ Messages รวมถึงแอปพลิเคชันยอดนิยมอื่นๆ ทั้งทางด้านสุขภาพ การออกกำลังกาย และความบันเทิง อย่างเช่น Adidas Running, GOLFBUDDY Smart Caddie, Swim.com, Strava, Calm, Sleep Cycle และ Spotify
การทำงานร่วมกันของ One UI Watch และแพลตฟอร์มใหม่ จะมอบประสบการณ์ใหม่ของการเชื่อมต่อระหว่าง
สมาร์ทวอทช์และสมาร์ทโฟนได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้จะเผยโฉมให้เห็นเป็นครั้งแรกในกาแลคซี่ วอทช์
รุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน Samsung Galaxy Unpacked ที่กำลังจะมาถึงนี้
นอกจากนี้ ซัมซุงยังได้พัฒนาเครื่องมือออกแบบรุ่นใหม่ เพื่อให้เหล่านักออกแบบสามารถสร้างสรรค์หน้าปัดนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และทำให้ผู้ใช้งานมีตัวเลือกที่หลากหลายในการปรับแต่งนาฬิกาของตนเองได้อีกด้วย
ซัมซุง ผู้นำนวัตกรรมด้านความปลอดภัยสำหรับสมาร์ทโฟน
ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้สมาร์ทโฟนมีความจำเป็นเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้ระบบการรักษาความปลอดภัยในสมาร์ทโฟนจึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา โดยซัมซุงถือเป็นบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมอันก้าวล้ำนำหน้าเพื่อปกป้องผู้ใช้จากภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งซัมซุงมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในงาน MWC เมื่อปี 2013 ซัมซุงได้เปิดตัว Samsung Knox ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแพลตฟอร์มด้านความปลอดภัยแบบองค์รวมที่คอยทำงานร่วมกับทุกนวัตกรรมที่ซัมซุงสร้างสรรค์ขึ้น พร้อมทำหน้าที่ปกป้องข้อมูลของอุปกรณ์หลายพันล้านเครื่องทั่วโลก ตั้งแต่ชิปเซ็ตไปจนถึงแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ โดยซัมซุงคือผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายในโลกที่สามารถออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง ซึ่งจุดแข็งนี้เป็นการรักษาความปลอดภัยในรูปแบบ end-to-end ได้อย่างแท้จริงในทุกขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งหมด
นอกจากนี้ ซัมซุงยังถือเป็นผู้ผลิตรายแรกที่แนะนำ elD solution ที่ตรงตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดที่สุดในโลก ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วโดยหน่วยงานรักษาความปลอดภัยข้อมูลของเยอรมัน (German Information Security Agency) หน่วยงานมาตรฐานแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (BSI) และรัฐบาลกลาง (Federal Ministries) เพื่อแนะนำการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลรูปแบบใหม่ (National electronic ID) พร้อมเดินหน้านำเสนอโซลูชันนี้ให้กับหน่วยงานทั่วโลก เพื่อให้เกิดเป็นกรณีศึกษาด้านการใช้งานต่อผู้ใช้งานต่อไปในอนาคต
ล่าสุด ซัมซุงยังได้เพิ่มเติมระบบการป้องกัน ด้วย Samsung Knox Vault ซึ่งได้รับใบรับรองด้านความปลอดภัย Evaluation Assurance Level 4+ มาปกป้องข้อมูลอันละเอียดอ่อนของผู้ใช้งาน เช่น รหัสผ่านหรือไบโอเมตริกซ์ โดยSamsung Knox Vault เกิดขึ้นจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ หน่วยประมวลผล (Processor) ที่ทำหน้าที่เข้ารหัสและปกป้องข้อมูลจากการโจมตีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โปรโตคอล (Protocol) ที่ทำหน้าที่ถ่ายโอนข้อมูลไปยัง Knox Vault Storage ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยบนสมาร์ทโฟน โดยข้อมูลที่ได้รับการบันทึกไว้บน Knox Vault Storage จะถูกแยกออกจากระบบปฏิบัติการหลักโดยสิ้นเชิง
ความร่วมมือด้านความยั่งยืนกับ Deutsche Telekom
ซัมซุงเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สามารถนำมาใช้รับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ ซึ่งในงาน MWC ซัมซุงและ Deutsche Telekom ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ อันได้แก่
- การพัฒนาสมาร์ทโฟน 5G ที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด โดยไม่ลดทอนคุณสมบัติอันทรงประสิทธิภาพ ซึ่งตัวเครื่องจะมาพร้อมกับการซ่อมแซมที่ง่าย และแบตเตอรี่ที่ถอดออกได้
- การเสริมความแข็งแกร่งด้านการทำการตลาดร่วมกันในกลุ่มสมาร์ทโฟนใช้แล้ว เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานยิ่งขึ้น ด้วยการรับซื้อสมาร์ทโฟนที่ใช้แล้วคืนมายังบริษัท ก่อนนำมาปรับปรุงใหม่ และกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง โดยแนวคิดนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วที่ประเทศโปแลนด์และเยอรมนี พร้อมแผนการที่จะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในอนาคต
- การสนับสนุนแนวคิดในการชดเชยต้นทุนการรีไซเคิล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการรีไซเคิลเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์
- การจัดการพอร์ตโฟลิโอของดีไวซ์ที่มีในปัจจุบันเพื่อสร้างความยั่งยืนยิ่งขึ้น
ที่มา: เวเบอร์ แชนด์วิค