มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) ร่วมด้วย บริษัท ดอท อะไร จำกัด จัดเสวนาหัวข้อ “เทคโนโลยีกับโควิด-19” และเปิดตัว “สมุดเยี่ยม.ไทย” ดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับบอกเล่าเรื่องราวและแบ่งปันประสบการณ์เมื่อต้องกักตัวหรือรักษาตัวในโรงพยาบาลและห่างไกลคนรู้จัก
ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย กล่าวว่า “มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย เป็นผู้บริหารชื่อโดเมนที่ลงท้ายด้วย .th และ .ไทย และยังมีพันธกิจอื่น ๆ มากมาย ที่เน้นเรื่องการโปรโมทการใช้งานอินเทอร์เน็ต และการลดช่องว่างทางด้านดิจิทัล มูลนิธิฯ ได้เปิด สมุดเยี่ยม.ไทย ขึ้นมา เพื่อตอบสนองกับสถานการณ์การแพร่เชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ซึ่งสนับสนุนการ พบเจอกันแบบเจอหน้า ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการรับเชื้อหรือส่งต่อเชื้อ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ปกติเราต้องการกำลังใจ เช่น เจ็บป่วย แต่ก็ไม่สามารถไปเยี่ยมเยียนกันได้ มูลนิธิฯ จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม สมุดเยี่ยม.ไทย ขึ้นมา เน้นการเยี่ยมเยียนทางไกล สามารถฝากข้อความเยี่ยมเอาไว้ และเก็บไว้ดูในอนาคต หรือจะเป็นการเยี่ยมแบบ Real-time ที่สามารถเปิดวิดีโอคอลและเยี่ยมพร้อมกันได้หลาย ๆ คน ทั้งนี้ ระบบนี้ก็อยากจะป้องกันคนไข้ ที่อาจจะมีภาวะเจ็บป่วย ไม่สะดวกตอบสนองตลอดเวลา ให้สามารถจัดสรรเวลาการเยี่ยมเองได้ และไม่เป็นการรบกวนต่อคนไข้มากนัก มูลนิธิฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ระบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ช่วงนี้ เพื่อบรรเทาข้อจำกัดที่กำลังเกิดขึ้น”
ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้มอบหมายคุณสมทรง พุ่มประเสริฐ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 และการบริหารจัดการของจังหวัดปทุมธานี ทั้งด้านโรงพยาบาลสนามและการรับวัคซีน และทางจังหวัดปทุมธานียินดีให้ สมุดเยี่ยม.ไทย สามารถเผยแพร่ตามโรงพยาบาลสนามของปทุมธานีได้
คุณนภชาติ กัลยาณพันธ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดอท อะไร จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม สมุดเยี่ยม.ไทย กล่าวแนะนำแพลตฟอร์มว่า “ผู้ใช้งานระบบ สมุดเยี่ยม.ไทย จะได้รับเว็บเพจเป็นของตนเอง โดยสามารถเขียนบทความ แบ่งปันอัลบั้มรูปภาพ ทำนัดหมายวีดีโอคอลผ่านระบบวีคลาส และอ่านข้อความที่ผู้มาเยี่ยมเขียนถึงเราได้ ขณะนี้เราได้เปิด สมุดเยี่ยม.ไทย ให้ใช้งานแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และเริ่มมีผู้มาใช้บริการสร้างเว็บเพจเป็นของตนเองแล้วจำนวนหนึ่ง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นที่นิยมแต่บางครั้งก็ไม่ตอบโจทย์ในการเผยแพร่ข้อมูล เนื่องจากผู้ใช้งานไม่อยากเปิดเผยบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ให้กับทุกคนและบทความที่โพสต์ไว้ก็จะถูกเลื่อนหายไปทำให้กลับมาดูได้ยากขึ้น ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลบน สมุดเยี่ยม.ไทย นอกจากจะเป็นบันทึกประสบการณ์ที่ผู้ใช้งานจะกลับมาดูอีกทีเมื่อไรก็ได้แล้ว ยังได้โดเมนส่วนตัวที่เก็บความทรงจำนี้ไว้ด้วย”
ในส่วนงานเสวนา “เทคโนโลยีกับโควิด-19” มีผู้ร่วมเสวนาดังนี้ นายแพทย์ จาตุรงค์ ศิริเฑียรทอง อาจารย์และจิตแพทย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คุณเพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล ผู้อำนวยการมูลนิธิทีเอชนิค และเป็นผู้มีประสบการณ์การใช้ชีวิตใน hospitel และ รต.พินิจ สีนิลหรั่ง โค้ชดำน้ำผู้ผ่านการใช้ชีวิตในโรงพยาบาลช่วงโควิด ดำเนินรายการโดย คุณภาคภูมิ ไตรพัฒน์
ดร.ทวีศักดิ์ ได้เล่าให้ฟังถึงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นหรือถูกใช้อย่างมากช่วงการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Virtual Tour, Entertainment Platform ต่าง ๆ, การสอนและประชุมทางไกล, รวมถึงอัตราการเสพสื่อโซเชียลที่เพิ่มสูงมากขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบต่อแนวทางทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น จำนวนผู้เช่าออฟฟิศลดลง ธุรกิจร้านซักรีดที่ลดลง รวมไปถึงธุรกิจร้านอาหารตามออฟฟิศที่ซบเซา นอกจากนี้ ดร.ทวีศักดิ์ เสนอว่า ควรมุ่งเน้นสังคมแบบ Happy Internet และปิดท้ายว่าแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น สมุดเยี่ยม.ไทย ควรจะได้มีการพัฒนาสำหรับเหตุการณ์อื่นๆ เช่น งานแต่งงาน หรือ งานศพ เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณเพ็ญศรี และ รต.พินิจ ได้เล่าถึงประสบการณ์การอยู่ Hospitel และโรงพยาบาล เป็นเวลานาน และยังต้องกลับไปกักตัวที่บ้านต่อ ทำให้มีภาวะวิตกกังวล กลัว และยังมีความรู้สึกผิดต่อคนรอบตัว
ในส่วนของ นพ.จาตุรงค์ ได้สรุปกลุ่มอารมณ์ของคนไข้โควิด-19 ซึ่งมีทั้ง กลัว กัลวล เศร้า รู้สึกผิด โกรธ และไม่มั่นคง แต่ก็มีส่วนน้อยที่มีความรู้สึกโล่งใจ และมีความสุข การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสารช่วยให้ผู้ป่วยลดความกังวล เพิ่มความสามารถในการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น ปรับตัวและก้าวผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นได้
“สมุดเยี่ยม.ไทย” ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สนับสนุนให้คนไทยมีโดเมนและเว็บเพจเป็นของตนเอง พร้อมเป็นสื่อกลางในการแบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์การกักตัวอยู่บ้าน หรือรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel นอกจากนี้ การทำเพจเข้าถึงในรูปแบบเว็บไซต์ สำหรับรวมรายละเอียดความเจ็บป่วย ทำให้ผู้เข้าเยี่ยมได้รับข้อมูล โดยผู้ป่วยไม่ต้องให้ข้อมูลเดิมซ้ำ ๆ หลายรอบ การเข้าเยี่ยมแบบนัดเวลาตามที่ผู้ป่วยสะดวก เพิ่มความใกล้ชิด ให้กำลังใจ โดยไม่รบกวนความเป็นส่วนตัว และเวลาพักของผู้ป่วยจนเกินไป เพิ่มความสุขให้กับทั้งผู้ป่วย และผู้เยี่ยม
ผู้สนใจใช้งานแพลตฟอร์ม “สมุดเยี่ยม.ไทย” สามารถสมัครใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ https://สมุดเยี่ยม.ไทย
ที่มา: มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย