“พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรี นำบอร์ดดีอีประชุมนัดแรกปี 64 ไฟเขียวกรอบงบประมาณ 500 ล้านบาท ดันโครงการนำร่องขับเคลื่อนการต่อยอดใช้ประโยชน์ 5จี พิจารณาแต่งตั้ง “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาในบอร์ดชุดนี้เพิ่มเติม
วันที่ 24 มีนาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 1/2564 พร้อมด้วยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเน้นย้ำการผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ และนำไปสู่การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ การพัฒนาบริการประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกระดับ ทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพ ส่งเสริมประชาชนให้มีภูมิต้านทานในการใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์มากกว่านำมาใช้สร้างความขัดแย้ง
โดยที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย เพื่อการต่อยอดการใช้ประโยชน์ ตามมาตรา 26 (6) วงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาท
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 26 (6) แห่ง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย เพื่อการต่อยอดการใช้ประโยชน์
สำหรับโครงการที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาสนับสนุน ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลักๆ ได้แก่ เป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เป็นโครงการนำร่องที่มีความสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 โดยเป็นโครงการที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนต่อยุคดิจิทัล หรือจะส่งผลกระทบในวงกว้าง และโครงการที่ขอรับการสนับสนุน ต้องมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี)
ในส่วนของหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่าย จะต้องเป็นไปตามระเบียบหรือเกณฑ์ราคากลางที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นเครื่องมือ/อุปกรณ์ เพื่อรองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G มีผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายจำนวนน้อยราย สามารถยื่นรายละเอียดค่าใช้จ่ายตามสมควร โดยการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารกองทุนดีอี
ขณะที่ โครงการนำร่องด้วยเทคโนโลยี 5G จะมีเกณฑ์การคัดเลือกเพิ่มเติม ได้แก่ เป็นความร่วมมือในรูปแบบการดำเนินการร่วมกัน พื้นที่นำร่องจะเป็นต้นแบบการนำร่อง 5G ในมิติต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และเกิดการนำไปขยายต่อ ทำซ้ำ ซ้ำเสริม และต่อยอด โดยจะเป็นต้นแบบการใช้ประโยชน์จาก 5G ที่เป็นรูปธรรม โดยการดำเนินงานของโครงการต้องเกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี และสามารถส่งต่อประโยชน์ให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าในเชิงบูรณาการต่อไป เป็นต้น
“เทคโนโลยี 5G เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคโทรคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค ภาคการขนส่ง ภาคการเกษตร ด้านสาธารณสุข เนื่องจาก มีคุณสมบัติสำคัญด้านความเร็ว ความหน่วงต่ำ และสามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ในปริมาณมาก ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมการต่อยอดการใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างก้าวกระโดด โดยจะเป็นการสนับสนุนการยกระดับด้านเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นางสาวอัจฉรินทร์ ยังได้นำเสนอที่ประชุมถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ที่มีรายงานจัดอันดับช่วงต้นปีนี้โดย Ookla Speedtest ผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับโลก ระบุว่า อินเทอร์เน็ตบ้าน (Fixed Broadband) ของไทย มีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดสูงถึง 308.35 เมกะบิท/วินาที (Mbps) ขึ้นแท่นอันดับ 1 ของโลก
สำหรับวาระเพื่อพิจารณาอื่นๆ ในการประชุมวันนี้ ได้แก่ ร่างแผนปฏิบัติการด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 – 2570) แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ โดยเป้าหมายการพัฒนาระยะแรก (ภายในปี 2565) จะมีโครงสร้างพื้นฐานฯ ที่มีการเชื่อมต่อและเข้าถึงในทุกสถานที่และสามารถเชื่อมต่อได้ด้วยความเชื่อมั่นและปลอดภัย ส่วนเป้าหมายการพัฒนาระยะที่สอง (พ.ศ. 2566 – 2570) ประเทศไทย จะมีโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบในหลักการ พร้อมให้ความเห็นเพิ่มเติมให้จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน เพื่อเริ่มเดินหน้าได้เป็นลำดับต้นๆ เน้นการดำเนินงานต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ที่มา: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม