- มือจับแม่เหล็กแบบปฏิวัติวงการจากออนโรบอตเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และอากาศยาน
- สมาชิกใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มือจับระบบไฟฟ้าที่ใช้งานและติดตั้งง่าย แตกต่างจากมือจับระบบไฟฟ้าทั่วไป เพราะ MG10 ตั้งโปรแกรมปรับระดับแรงกดได้ พร้อมส่วนก้านจับและเซ็นเซอร์ตรวจจับชิ้นส่วนแบบบิวท์อิน
ออนโรบอต (OnRobot) เปิดตัว MG10 อุปกรณ์มือจับระบบแม่เหล็กประสิทธิภาพสูงที่ใช้ง่ายและรองรับการทำงานได้แบบอเนกประสงค์ สำหรับงานหยิบจับวัสดุ งานประกอบชิ้นส่วน และการลำเลียงด้วยเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ยานยนต์ และอากาศยาน สามารถติดตั้งเข้ากับหุ่นยนต์ของแบรนด์ชั้นนำได้ทุกรุ่นผ่าน One System Solution ของออนโรบอต นอกจากนี้ MG10 ยังมีฟีเจอร์ปรับระดับแรงกดและการตรวจจับการหยิบวัตถุที่โดดเด่น ทำให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมการทำงานได้อย่างแม่นยำมากกว่ามือจับรุ่นอื่น ๆ
มือจับระบบแม่เหล็กรุ่นมาตรฐานทั่วไปมักมีฟังก์ชั่นเพียงเปิด/ปิดการใช้งานเท่านั้น และถ้าต้องการปรับระดับแรงกด ผู้ใช้ต้องติดตั้ง “แผ่นยางรอง” เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างแม่เหล็กกับชิ้นส่วนที่ต้องการหยิบจับ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่น่าเบื่อหน่ายและขาดความแม่นยำ เพราะไม่สามารถรับประกันได้เลยว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการทุกครั้ง โดยเฉพาะการทำงานกับแผ่นโลหะบาง ๆ หรือชิ้นงานโลหะขนาดจิ๋ว ซึ่งมือจับระบบแม่เหล็กทั่วไปมักพลาดจับขึ้นมากกว่าหนึ่งชิ้นหรือหนึ่งแผ่นเสมอ เพราะไม่สามารถปรับระดับแรงกดได้อย่างแม่นยำ
“มือจับแม่เหล็กรุ่นมาตรฐานทั่วไปถือเป็นความยุ่งยากอย่างแท้จริง เพราะเกือบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานหรือลักษณะชิ้นงาน คุณจะต้องลงมือปรับแต่งตัวอุปกรณ์เองเพื่อแก้ไขประสิทธิภาพการทำงานที่มือจับนั้นไม่สามารถให้คุณได้” มร.เอนริโก คร็อก ไอเวอร์เซน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ออนโรบอต กล่าว “อุปกรณ์มือจับแม่เหล็กประสิทธิภาพสูงรุ่น MG10 ของออนโรบอตช่วยขจัดความยุ่งยากทั้งหมดนั้นออกไปด้วยฟีเจอร์การปรับระดับแรงกด ซึ่งช่วยให้คุณสามารถรับมือกับการหยิบจับชิ้นงานที่ต้องการความแม่นยำสูงได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย”
ฟีเจอร์ใหม่ช่วยลดการตกหล่นของชิ้นส่วน
อุปกรณ์มือจับแม่เหล็กรุ่น MG10 แตกต่างจากมือจับแม่เหล็กรุ่นมาตรฐานทั่วไป เพราะมาพร้อมฟังก์ชั่นก้านจับและเซ็นเซอร์ตรวจวัดชิ้นส่วนแบบบิลต์อิน สำหรับการทำงานกับแผ่นโลหะ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องลำเลียงที่ต้องใช้หุ่นยนต์ยกแผ่นโลหะขึ้นจากแท่นเพื่อวางบนเครื่องพับ/ดัดโลหะ และหยิบชิ้นส่วนนั้นออกไปเมื่อเครื่องจักรเสร็จงานแล้ว การมีฟังก์ชั่นข้างต้นจะช่วยให้งานราบรื่น สม่ำเสมอ และปลอดภัย ในกรณีที่หุ่นยนต์เกิดสูญเสียแรงกดหรือจำเป็นต้องสั่งหยุดการทำงานกระทันหันในขณะดำเนินการ ฟีเจอร์นี้ช่วยสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีความเสี่ยงที่ชิ้นส่วนนั้นจะตกหล่นลงมา
อุปกรณ์มือจับแม่เหล็ก MG10 รุ่นใหม่นี้ยังสามารถรองรับงานลำเลียงด้วยเครื่องจักร การประกอบชิ้นส่วน และการรับมือกับชิ้นงานที่แต่เดิมต้องใช้มือจับระบบอัดอากาศที่ซับซ้อนและต้นทุนสูง “ในขณะที่ระบบอันซับซ้อนแบบเดิม ๆ จำเป็นต้องมีการอัดอากาศเข้าจากภายนอก การเดินสายไฟ และการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง แต่ MG10 สามารถแกะออกจากกล่องแล้วพร้อมใช้งานทันที จึงช่วยลดต้นทุนการติดตั้งได้อย่างมหาศาลเมื่อเปรียบเทียบกับมือจับแม่เหล็กรุ่นอื่น ๆ ที่มีระบบซับซ้อน” มร.เอนริโก คร็อก ไอเวอร์เซน กล่าว
การรับมือกับพื้นผิวขรุขระ หยาบหรือมีรูพรุน
อุปกรณ์มือจับแม่เหล็กรุ่น MG10 สามารถรับมือกับวัตถุที่มีพื้นผิวหยาบ ขรุขระ หรือมีรูพรุนได้อย่างแม่นยำและมั่นคง ทำให้เป็นมือจับที่สมบูรณ์แบบสำหรับการใช้งานหลากหลายประเภทในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ยานยนต์ และอากาศยาน ยิ่งไปกว่านั้น ชุดแม่เหล็กรวมของ MG10 ยังทำให้มือจับรุ่นนี้สามารถรับมือกับวัตถุที่มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องขนาด น้ำหนัก และรูปทรงที่ไม่สมมาตร ได้อย่างดีเยี่ยม
การติดตั้งเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในเอเชียมีอัตราพุ่งสูงขึ้น
ภูมิภาคเอเชียถือเป็นตลาดหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 – 2019 อัตราการติดตั้งหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นราว 13% ในแต่ละปี การใช้งานหุ่นยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นการลำเลียงและประกอบชิ้นส่วน ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์มากเป็นอันดับต้น ๆ คืออิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย และประเทศไทยเองก็ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุด และมีฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มร.เจมส์ เทย์เลอร์ ผู้จัดการทั่วไป ออนโรบอต ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “เรากำลังวางแนวทางสู่หุ่นยนต์รุ่นใหม่ผ่านเครื่องมืออัจฉริยะที่ใช้งานง่ายและมีความยืดหยุ่นสูง ระบบอัตโนมัติเพื่อการทำงานร่วมกับมนุษย์เริ่มกลายเป็นโซลูชั่นสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอุตสาหกรรมสมัยใหม่และเป้าหมายของเราคือการสร้างความมั่นใจว่าบริษัททุกขนาดจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้”
สามารถดาวน์โหลดชุดข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์ได้ ที่นี่
ที่มา: มิดัส คอมมิวนิเคชั่น อินเตอร์เนชั่นเนล