TikTok มุ่งพัฒนา Digital Economy ในประเทศไทย เดินหน้าสร้างพันธมิตรกับหน่วยงานและองค์กรชั้นนำ ผ่านการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นชั้นนำระดับโลก เดินหน้าสร้างพันธมิตรกับหน่วยงานและองค์กรชั้นนำระดับโลกและระดับประเทศเพื่อมุ่งพัฒนา Digital Economy หรือ นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ผ่านการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสร้างประโยชน์และพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรชั้นนำระดับประเทศในด้านต่างๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, กรมสุขภาพจิต, กระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), กระทรวงพาณิชย์โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในการสร้างสรรค์ความร่วมมือในมิติต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา Digital Economy ในประเทศไทย ผ่านการใช้แพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะสร้างสรรค์รูปแบบการสื่อสารแนวใหม่ที่สามารถเข้ากับยุคสมัยและเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy ของ TikTok กล่าวว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่กำลังเป็นที่นิยมจากจำนวนยอดดาวน์โหลดทั่วโลกที่สูงกว่า 2 พันล้านดาวน์โหลด ที่นอกจากจะให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาประสบการณ์บนแพลตฟอร์มให้กับผู้ใช้ของเราอย่างต่อเนื่องแล้ว TikTok ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา Ecosystem บนแพลตฟอร์มให้เกิดความยั่งยืน ที่ไม่เพียงสำหรับผู้ใช้ ครีเอเตอร์ หรือพันธมิตรธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนา Digital Economy หรือ นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ผ่านกลยุทธ์การสร้างพันธมิตรกับหน่วยงานและองค์กรชั้นนำระดับประเทศในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา สังคมและสาธารณสุข รวมถึงด้านเศรษฐกิจ และมากไปกว่านั้น TikTok ยังมีแนวคิด TikTok For Good เพื่อสร้างสรรค์แรงบันดาลใจและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ด้วยการนำ TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นพื้นที่แห่งพลังบวกที่ส่งเสริมและจุดประกายให้เกิดความสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัด มาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงและส่งต่อคอนเทนท์ที่เป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ทำให้ในวันนี้ TikTok จึงไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มแห่งความสนุก ความบันเทิง แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มที่หลายองค์กรเลือกใช้ในการสื่อสารเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอนาคตต่อไป

“TikTok เรามุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมด้วยการจับมือกับหน่วยงานและองค์กรชั้นนำของประเทศ ในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง TikTok เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและสังคมในหลากหลายมิติ อาทิ มิติด้านการศึกษา, เศรษฐกิจ, คุณภาพชีวิต, สาธารณสุข และสังคม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้กับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยอีกด้วย” ชนิดา กล่าวเสริม

โดยความร่วมมือของ TikTok และหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนา Digital Economy ในประเทศไทย มีดังต่อไปนี้

มิติด้านการศึกษา

TikTok ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการริเริ่มโครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์คอนเทนท์ทางการศึกษาในรูปแบบวิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok เพื่อเป้าหมายในการจุดประกายให้เกิดการสร้างสรรค์คอนเทนท์การศึกษาและสาระความรู้ในรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ โดย TikTok ได้จัดกิจกรรมอบรมเพื่อส่งเสริมการศึกษาให้ความรู้แก่ครู อาจารย์ และนักเรียนทั่วประเทศ ผ่าน Webinar หรือการอบรมเชิงปฏิบัติการผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการเน้นเนื้อหาในเรื่องแนวทางการสร้างสรรค์คอนเทนท์วิดีโอสั้นบน TikTok เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้ TikTok พัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างสรรค์แคมเปญ #TikTokUni ในการเชิญชวนเหล่านักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ หรือผู้รู้ในแต่ละสาขาวิชา มาสร้างสรรค์คอนเทนท์การศึกษาบน TikTok ซึ่งจากแคมเปญนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จมากมายทั้งการแจ้งเกิดครีเอเตอร์สายการศึกษาหน้าใหม่เป็นจำนวนมาก และการตอบรับจากผู้ใช้ส่งผลให้ #TikTokUni เป็นแฮชแท็กแคมเปญที่มียอดวิวสูงสุดในประเทศไทย ด้วยยอดวิว 15.6 พันล้าน

มิติด้านสังคมและสาธารณสุข

TikTok ได้ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข ในการเปิดแอคเคาท์ของกระทรวงสาธารณสุข ในชื่อ @thaimoph “ไทยรู้สู้โควิด” ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้เกี่ยวกับ COVID-19 ทั้งการนำเสนอข้อมูลรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับวิธีการดูแลตนเองในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 บนแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งถือเป็นอีกปรากฏการณ์ที่หน่วยงานภาครัฐเลือกใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบคอนเทนท์วิดีโอสั้นบน TikTok

นอกจากนี้ TikTok ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. รณรงค์การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับ COVID-19 ระลอกใหม่ หลังจากที่เคยร่วมมือกับ สสส. ในการสร้างสรรค์ #ล้างมือ40วิ เมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้คนไทยได้ตระหนักถึงการป้องกันและดูแลตนเองให้ปลอดภัยจาก COVID-19 ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยม ด้วยยอดวิวสูงถึง 5.4 พันล้าน และล่าสุด TikTok ได้ร่วมมือกับ สสส. อีกครั้งในการส่งแคมเปญกระตุ้นให้ผู้คนเกิดการรับรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเองท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok เพื่อสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแนะนำไอเดียการดูแลตัวเอง การรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงสัมผัสจุดเสี่ยง COVID-19 อาทิ วิธีล้างมือสุดครีเอทอย่างถูกวิธี, เช็ดหน้าจอโทรศัพท์มือถือจุดเสี่ยงสัมผัสโรค, ทำความสะอาดลูกบิดประตูพร้อมโชว์สเต็ปแดนซ์ เป็นต้น พร้อมติดแฮชแท็ก #อย่าเพิ่งจับอย่าเพิ่งทัช โดยหลังจากเปิดตัวแคมเปญ #อย่าเพิ่งจับอย่าเพิ่งทัช เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่าได้รับกระแสตอบรับอย่างดีเยี่ยมจนสามารถสร้างยอดวิวได้สูงถึง 20.5 ล้าน

อีกทั้ง TikTok ยังให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย โดยได้ร่วมมือกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนากลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์คอนเทนท์ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีบน TikTok เพื่อสร้างความตระหนักรู้ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ และส่งเสริมให้บุคลากรเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตเป็นนักสื่อสารสุขภาพจิตที่เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ รวมทั้งการจุดประกายให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่พูดคุยกันได้ในสังคม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อความมุ่งมั่นของ TikTok ในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนผู้ใช้ TikTok ทั้งในทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย

มิติด้านเศรษฐกิจ

สำหรับมิติด้านเศรษฐกิจ ล่าสุด TikTok ได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านดิจิทัลคอนเทนท์และพัฒนาครีเอเตอร์ไทย เพื่อขยายโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์และครีเอเตอร์มืออาชีพได้ อีกทั้งขยายโอกาสให้คอนเทนท์ไทยและครีเอเตอร์ไทยได้เป็นที่รู้จักในระดับโลก และนอกจากนี้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับ depa จะมาพร้อมกับมิติของการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจในประเทศไทยด้วยการนำโซลูชั่นการตลาดดิจิทัลแบบครบวงจรอย่าง TikTok For Business ซึ่งถือเป็นโซลูชั่นการตลาดดิจิทัลแบบใหม่ที่จะเข้ามาเติมเต็มศักยภาพให้กับผู้ประกอบไทยในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและต่อยอดพร้อมขยายการทำตลาดดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ TikTok ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ครบเครื่องเรื่องการค้าออนไลน์ by NEA” ที่เน้นการจัดทำหลักสูตรเสริมองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้ด้านการค้าออนไลน์อย่างครบวงจร เพื่อข้ามข้อจำกัดทางธุรกิจในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากร งบประมาณ หรือความรู้ด้านเทคโนโลยี โดยใช้ TikTok For Business สร้างโอกาสให้ธุรกิจสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายด้วยการสร้างสรรค์คอนเทนท์วิดีโอสั้น ซึ่งถือเป็นแนวทางการตลาดรูปแบบใหม่ที่กำลังมาแรงและมีประโยชน์กับทุกธุรกิจ

และนี่ถือเป็นบทพิสูจน์ของ TikTok ในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนที่ไม่เพียงแค่สร้างความสนุกและความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวคิด TikTok For Good  สร้างสรรค์แรงบันดาลใจและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม

ที่มา: ชมฉวีวรรณ