ดีอีเอส ระดมไอเดียจัดทำร่างกม.ลำดับรอง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ

กระทรวงดิจิทัลฯ สรุปความสำเร็จเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างกฎหมายลำดับรอง ภายใต้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กลุ่ม 1 ตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 7 กิจการเข้าร่วมคึกคัก ทั้งกลุ่มการเงิน กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มการผลิตและการค้า กลุ่มสาธารณสุข กลุ่มหน่วยงานของรัฐ กลุ่มดิจิทัลและผู้ประกอบการต่างประเทศ และกลุ่มการศึกษาและภาคประชาชน เตรียมเปิดรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมผ่านแบบฟอร์มออนไลน์จนถึงวันที่ 28 ก.พ. นี้

นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ทำหน้าที่ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) กล่าวว่า กระทรวงฯ และ สคส. เดินหน้ากระบวนการดำเนินการเพื่อจัดทำกฎหมายลำดับรอง หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทั้งฉบับในเดือนมิถุนายนนี้

ล่าสุด กระทรวงฯ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างกฎหมายลำดับรอง ภายใต้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กลุ่ม 1 ระหว่างวันที่ 15-18 ก.พ. 64 ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องในกิจการ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจการเงิน ตลาดทุน ประกันภัย, กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม, กลุ่มธุรกิจการผลิตและการค้า, กลุ่มธุรกิจสาธารณสุข, หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ, กลุ่มธุรกิจดิจิทัลและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการต่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจการศึกษาและภาคประชาชน

ทั้งนี้ ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายลำดับรองกลุ่ม 1 ประกอบด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล, การแจ้งวัตถุประสงค์และรายละเอียดในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล, มาตรการคุ้มครองที่เหมาะสมสำหรับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26, หลักเกณฑ์และนโยบายการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ส่งหรือโอนไปยังต่างประเทศ

การจัดให้มีบันทึกรายการกิจกรรมประมวลผล มาตรการเกี่ยวกับการขอใช้สิทธิในการเข้าถึงของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และการแจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล, ความมั่นคงปลอดภัยของการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล, เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน และการบังคับทางปกครอง

สำหรับการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นการจัดในรูปแบบออนไลน์ มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้ารวม 1,500 ราย และวันนี้ (19 ก.พ. 64) ได้มีการเผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นบนเว็บไซต์ของกระทรวงฯ ที่ http://bit.ly/pdpaMDES   พร้อมทั้งเปิดรับข้อเสนอแนะผ่านแบบฟอร์มออนไลน์จนถึงวันที่ 28 ก.พ. นี้

นายภุชพงค์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มการจัดทำกฎหมายลำดับรอง พิจารณาตามหลักการ Multi-Criteria Analysis เพื่อคัดเลือกประเด็นที่จำเป็น เร่งด่วน และมีผลกระทบกับสิทธิของประชาชนและการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ เพื่อมาจัดทำร่างประกาศที่เกี่ยวข้องก่อน

ที่มา: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม