การทำงานในเหมืองนั้นทั้งร้อนและอันตราย ไม่ได้สะดวกสบายและทันสมัยเหมือนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมรูปแบบอื่นๆ หลายคนจึงไม่เคยคิดว่ากระบวนการดำเนินงานและคุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานเหมืองจะได้รับการพัฒนาขึ้นได้อย่างไร แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีโครงข่ายโทรคมนาคมและการประมวลผลคอมพิวเตอร์มีความก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก ธุรกิจเหมืองจึงเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย เพิ่มอัตรากำลังการผลิต และที่สำคัญคือ พัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงาน และก้าวเข้าสู่ “การทำเหมืองอัจฉริยะ” อย่างเต็มตัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโครงการความร่วมมือล่าสุดระหว่างหัวเว่ยกับรัฐมณฑลซานซี สาธารณรัฐประชาชนจีน จินเหนิง โฮลดิ้งกรุ๊ป(Jinneng Holding Group) และบริษัทซานซี คลาวด์ เอรา เทคโนโลยี (Shanxi Cloud Era Technology Co., Ltd.) เปิดศูนย์นวัตกรรมเหมืองอัจฉริยะ “ซานซีโมเดล” ขึ้นมา โดยมีความมุ่งหวังที่จะลดจำนวนพนักงานที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เสี่ยงอันตราย ด้วยการนำเทคโนโลยี รวมถึงคลาวด์คอมพิวติ้ง มาเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน
ศูนย์นวัตกรรมเหมืองอัจฉริยะนี้จะมีเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านไอซีทีและด้านการทำเหมืองประจำอยู่ทั้งหมด 220 คน เพื่อช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการดูแลโครงข่ายข้อมูล การผลักดันระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์อัจฉริยะ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี Big Data มาใช้วิเคราะห์ ในการให้ระบบทั้งหลายทำงานประสานกันจนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้
นายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ย ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “หัวเว่ยหวังที่จะนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมมาผนวกเข้ากับธุรกิจเหมืองถ่านหิน เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว และสร้างรูปแบบธุรกิจที่มีความเสี่ยงโดยใช้คนน้อยลง มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น ในปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้จุดประกายด้านเทคโนโลยีให้กับเหมืองถ่านหินหนึ่งแห่ง โรงงานเหล็กหนึ่งแห่ง และท่าเรืออีกหนึ่งแห่ง แต่ในอีกสองสามปีจากนี้เราจะนำเทคโนโลยีมา “จุดประกาย” ให้เหมือง โรงงาน และท่าเรือ อีกนับร้อยแห่ง”
ศูนย์นวัตกรรมดังกล่าวสร้างขึ้นด้วยแนวคิด “ของทุกระบบ จากทุกฝ่าย เพื่อทุกคน” (of all, by all, and for all) ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่หัวเว่ยเลือกจะสร้างศูนย์นี้ขึ้นที่มณฑลซานซี เพราะมณฑลดังกล่าวเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ผลิตพลังงานปริมาณสูงสุดให้แก่ประเทศจีน และมีประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในการดำเนินธุรกิจเหมือง โดยหัวเว่ยเริ่มนำนวัตกรรมเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562เพื่อสร้างระบบปฏิบัติการที่ไม่ต้องใช้คน มีความอัจฉริยะ สะอาด และปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ
เป้าหมายหลักของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในธุรกิจเหมืองคือ การเพิ่มระดับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการทำงาน และเนื่องจากการทำงานในเหมืองนั้นอันตรายและจำเป็นที่จะต้องส่งข้อมูลจำนวนมากขึ้นมาบนพื้นดินแบบเรียลไทม์ ส่งผลให้มีความต้องการการอัปโหลดข้อมูลที่สูงมาก หัวเว่ยจึงร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างเสาส่งสัญญาณขนาดเล็ก โดยเสาดังกล่าวสามารถทนความชื้น ฝุ่น หรือแม้กระทั่งการระเบิดได้ และมีอัตราส่วนการส่งและรับข้อมูลอยู่ที่ 3 ต่อ 1 ช่วยเพิ่มความแม่นยำขึ้นจาก 99.9% เป็น 99.99%
หัวเว่ยมุ่งหวังที่จะใช้ศูนย์นวัตกรรมเหมืองอัจฉริยะนี้ทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น กล้องที่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้ เสาส่งสัญญาณความถี่ต่ำ หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงในการทำงาน โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของหุ่นยนต์และการทำงานแบบไม่ใช้คนเพื่อลดอันตราย โดยตั้งเป้าว่าศูนย์นวัตกรรมนี้จะสามารถลดการใช้คนในเหมืองที่มีการวางระบบอัจฉริยะให้ได้กว่า 60% และลดจำนวนพนักงานที่จะต้องลงไปในเหมืองในแต่ละกะให้ได้ไม่น้อยกว่า 20% นอกจากนี้ หัวเว่ยยังยึดมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในธุรกิจเหมืองสามารถสร้างอีโคซิสเต็มที่มีความพร้อมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ รวมทั้งสร้างคุณประโยชน์ให้กับภาคสังคมควบคู่กันไปในอนาคตอีกด้วย
ที่มา: คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์