นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 หลังจากแผนฯ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว เพื่อขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยที่ประชุมรับทราบว่ามีการจัดเตรียมงบประมาณบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2565 ไว้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ด้วยแล้ว
ที่ประชุมยังมีมติให้ทุกหน่วยงานเร่งพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ระดับพื้นฐานอย่างเร่งด่วน โดยมอบหมายให้ สพร. จัดเตรียมเป็นหลักสูตร e-Learning เพื่อให้สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ซึ่งจะเป็นการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในการร่วมขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล โดยเริ่มจากการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่บุคลากรภาครัฐที่ยังขาดทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในการทำงานเป็นลำดับแรกก่อน ทั้งนี้ รองนายกฯ ดอนยังเน้นความสำคัญของการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบริการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านระบบดิจิทัลของภาครัฐด้วย
ที่ประชุมยังย้ำความสำคัญของการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เร่งให้ภาครัฐต้องปรับตัวสู่รัฐบาลดิจิทัลเร็วขึ้น ซึ่งในขณะนี้หน่วยงานภาครัฐสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (Government Data Exchange Center: GDX) โดยสำนักงาน ก.พ.ร. และ สพร. พร้อมช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัด
รองนายกฯ ดอนเน้นความสำคัญของการดำเนินตามแผนงานต่างๆ เพื่อผลักดันรัฐบาลดิจิทัล บนหลักของความโปร่งใส ประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาลและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งพยายามเชื่อมโยงการดำเนินงานเพื่อพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกับวาระเพื่อการพัฒนาประเทศที่สำคัญอื่นๆ ของรัฐบาล อาทิ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด-19
ที่ประชุมได้รับทราบสถานะการดำเนินงานโครงการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) โดยมีมหาวิทยาลัยนำร่อง 9 แห่งที่พร้อมให้บริการ Digital Transcript แก่นิสิตนักศึกษาในปีการศึกษา 2563 ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายฝ่ายเลขานุการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลให้หน่วยงานของรัฐรับรู้ในเรื่องการนำ Digital Transcript ไปใช้ในหน่วยงานและให้ถือเสมือนเอกสารต้นฉบับหรือฉบับจริง เพราะเล็งเห็นประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับนอกจากอำนวยความสะดวกแก่นิสิต/นักศึกษา และประชาชน ช่วยป้องกันการปลอมแปลงวุฒิการศึกษา และลดภาระของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารสำคัญทางการศึกษาแล้ว ยังเป็นการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลครั้งสำคัญของประเทศอีกด้วย
ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีหน้าที่ขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยได้ดำเนินโครงการในหลายด้าน เช่น การพัฒนาทักษะบุคลากรภาครัฐที่ผ่านการอบรมหลักสูตรดิจิทัลจากสถาบัน TDGA โดยในปี 2564 ตั้งเป้าหมายพัฒนาบุคลากรภาครัฐ จำนวน 2 แสนคน และพัฒนาบุคลากรสายเทคโนโลยีสารสนเทศในเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูล การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับด้านมาตรฐาน หลักเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 สพร. ได้มีการดำเนินการคืบหน้าหลายเรื่อง เช่น การจัดทำกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐผ่านเว็บไซต์ data.go.th การจัดทำดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ และการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล อาทิ บัญชีข้อมูลและคำอธิบายชุดข้อมูลดิจิทัล Data Catalog / Metadata จัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทพอร์ทัลกลาง เพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap) นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานหลายฝ่าย เช่น การเปิดศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ (AI) เพื่อให้เป็นแหล่งรวมผลงาน AI พร้อมใช้ เพื่อสร้างชุมชน AI ร่วมผลักดันหน่วยงานรัฐสร้างบริการเพื่อประชาชน การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ (DGTi) เป็นต้น โดยมุ่งดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “รัฐบาลดิจิทัล เปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน” เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ สังคมอยู่ได้ ในสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันในยุค New Normal นี้
ที่มา: สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล