ผลสำรวจจาก UOB, PwC และ SFA ชี้ 4 ใน 5 ของบริษัทฟินเทคในอาเซียนพร้อมขยายกิจการ แม้เผชิญวิกฤตโควิด-19

บริษัทฟินเทคในสิงคโปร์ดึงดูดการลงทุน 3 ใน 5 ของทั้งหมด

ธนาคารยูโอบีเผยผลสำรวจ “FinTech in ASEAN: Get up, Reset, Go!” ชี้ 4 ใน 5 บริษัทฟินเทคในภูมิภาคอาเซียนยังคงมุ่งหน้าขยายกิจการในอีกสองปีข้างหน้าแม้เผชิญความท้าทายอันเป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

ธนาคารยูโอบี ร่วมกับพีดับบลิวซี สิงคโปร์ (PwC Singapore) และสมาคมฟินเทคสิงคโปร์ (Singapore FinTech Association – SFA) ทำการสำรวจความคิดเห็นบริษัทฟินเทคในอาเซียน 109 บริษัท โดยผลสำรวจระบุว่าอาเซียนเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในการขยายตลาดของบริษัทเหล่านี้ (ร้อยละ 78) นอกจากนั้นยังเป็นตัวเลือกการขยายกิจการอันดับหนึ่งสำหรับบริษัทฟินเทคที่อยู่นอกภูมิภาคอาเซียนด้วย (ร้อยละ 69)

ความเชื่อในศักยภาพของอาเซียนนี้เกิดจากแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอาเซียนท่ามกลางภาวะวิกฤต โดยในปีนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่มากกว่า 40 ล้านราย ซึ่งประชากรในภูมิภาคอาเซียนร้อยละ 70 ใช้อินเทอร์เน็ต และคาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปอีกในสิบปีข้างหน้าเนื่องด้วยบริการดิจิทัลต่างๆ อาทิ ตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่คนใช้กันทั่วไป

แนวโน้มระดับภูมิภาคนี้ทำให้บริษัทฟินเทคในอาเซียนมีโอกาสให้บริการโซลูชันการเงินดิจิทัลในด้านการชำระเงินและการกู้เงินทางเลือกแก่ประชากรที่มีการเชื่อมต่อเชิงดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น หนทางหนึ่งที่บริษัทฟินเทคสามารถขยายบริการในภูมิภาคอาเซียนคือ การร่วมมือกับธนาคารเพื่อผนวกรวมจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน อย่างเช่นจุดให้บริการลูกค้าของธนาคารและสมรรถนะด้านเทคโนโลยีของบริษัทฟินเทค

เจเน็ต ยัง Head of Group Channels and Digitalisation ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า “ในขณะที่บริษัทฟินเทคในอาเซียนมุ่งขยายกิจการในภูมิภาค ความร่วมมือจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดที่มีข้อกำหนดด้านการกำกับดูแลและการดำเนินงานที่หลากหลาย การใช้จุดแข็งของความร่วมมือยังช่วยให้บริษัทฟินเทคสามารถเข้าถึงเครือข่ายลูกค้าที่กว้างขึ้น และสามารถยกระดับการทำงาน การใช้ชีวิต การสันทนาการ และการใช้บริการธนาคารของลูกค้าได้ ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างธนาคารและบริษัทฟินเทคในอาเซียนได้ทำให้เกิดเทคโนโลยีและสมรรถนะชั้นเลิศในอุตสาหกรรม นำไปสู่การพัฒนาโซลูชันเชิงนวัตกรรมที่ทำให้การใช้บริการธนาคารเป็นเรื่องง่ายขึ้นและเข้าถึงได้มากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน”

บริษัทฟินเทคในสิงคโปร์ดึงดูดการลงทุน 3 ใน 5 ของทั้งหมด

ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2563 มีการทำข้อตกลงไปแล้ว 95 ข้อตกลง โดยเกือบ 2 ใน 3 เป็นของบริษัทฟินเทคในสิงคโปร์

นักลงทุนยังคงมีความสนใจอย่างมากในบริษัทฟินเทคในสิงคโปร์ โดยบริษัทเหล่านี้ยังคงดึงดูดเงินทุนจำนวนสูงที่สุด (ร้อยละ 42) ในภูมิภาค ซึ่งอาจเป็นเพราะนักลงทุนเชื่อมั่นในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการกำกับดูแลของสิงคโปร์ ตลอดจนประวัติผลงานที่ดีในการบรรเทาผลกระทบของวิกฤตอย่างเช่นการระบาดของโรคโควิด-19

เนื่องจากสิงคโปร์เป็นตลาดฟินเทคที่มีความพร้อมที่สุดในอาเซียน การให้ทุนแก่บริษัทฟินเทคในสิงคโปร์จึงมีความหลากหลายครอบคลุมทุกประเภท โดยมีเทคโนโลยีด้านการกู้ยืมทางเลือก การชำระเงิน และเทคโนโลยีการธนาคารเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ส่วนในตลาดอื่นในภูมิภาคอาเซียน การให้ทุนด้านการชำระเงินยังคงมีอันดับสูงสุด เนื่องจากการชำระเงินดิจิทัลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

วง วันยิ ผู้นำฝ่ายฟินเทค บริษัทพีดับบลิวซี สิงคโปร์ กล่าวว่า “ในปีที่แล้ว สิงคโปร์ยังคงดึงดูดเงินลงทุนมากที่สุดในตลาดฟินเทคของอาเซียน และยังครองความเป็นผู้นำในตลาดฟินเทคของอาเซียน โดยตัวแปรสำคัญของผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของสิงคโปร์คือระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโต มีการเกื้อหนุน และมีการทำงานร่วมกัน ตัวอย่างเช่น แรงจูงใจจากหน่วยงานกำกับดูแลและสมาคมสำคัญในอุตสาหกรรมอย่าง SFA ตลอดจนวัฒนธรรมสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งในการแบ่งปันความรู้ เป็นสิ่งที่ช่วยเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรม ผู้เล่นหลักของอุตสาหกรรมยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความสามารถ ขณะเดียวกัน ความร่วมมือของรัฐบาล ธุรกิจ และบุคลากรก็เป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นศูนย์กลางฟินเทคที่ประสบความสำเร็จ”

บริษัทฟินเทคในอาเซียนยังคงมีมุมมองบวกต่ออนาคตแม้เผชิญวิกฤตโรคระบาด

รายงานระบุว่า บริษัทฟินเทคในภูมิภาคอาเซียนยังคงมีมุมมองบวกต่ออนาคตแม้เผชิญกับวิกฤตโรคระบาด โดย 2 ใน 3 ของบริษัทฟินเทคระบุว่าวิกฤตโรคระบาดไม่มีผลกระทบหรือส่งผลกระทบแง่บวกต่อแผนการระดมทุนในอนาคต (ร้อยละ 65) และต่อการลงทุนในขั้นสุดท้าย (ร้อยละ 62) นอกจากนี้ บริษัทฟินเทคส่วนใหญ่ในอาเซียน (ร้อยละ 87) ยังกล่าวว่าบริษัทสามารถทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในช่วงหลังวิกฤตโรคระบาด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมและการสร้างการเติบโตของรายได้ในปีหน้า

เชีย ฮก ไหล ประธาน SFA กล่าวว่า “บริษัทฟินเทคในอาเซียนมีเหตุผลที่ดีที่จะเชื่อมั่นในอนาคตเนื่องจากโควิด-19 ได้ช่วยเร่งให้เกิดการใช้งานการเงินดิจิทัลโดยผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เพื่อดึงดูดโอกาสการเติบโตในภูมิภาค บริษัทฟินเทคในอาเซียนจำเป็นต้องมีความคล่องตัวในการปรับผลิตภัณฑ์และรูปแบบการสร้างรายได้เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งร่วมมือกับสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่น่าตื่นเต้นแต่ก็มีการกระจายตัวในภูมิภาคอาเซียน”

สามารถดาวน์โหลดผลสำรวจ FinTech in ASEAN: Get up, Reset, Go! ได้ที่ https://www.uobgroup.com/techecosystem/news-insights-fintech-in-asean-2020.html และดาวน์โหลดอินโฟกราฟิกของรายงาน FinTech in ASEAN: Get up, Reset, Go! ได้ที่ https://mma.prnewswire.com/media/1362086/Infographic___FinTech_in_ASEAN___Get_Up__Reset__Go.pdf

เกี่ยวกับ ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์

ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ จำกัด (ยูโอบี) คือธนาคารชั้นนำในเอเชียที่มีเครือข่ายสำนักงานกว่า 500 แห่ง ใน 19 ประเทศและดินแดน ทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2478 ยูโอบีได้สร้างการเติบโตจากภายในองค์กรเองและผ่านการเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์มาอย่างต่อเนื่อง ยูโอบีได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของโลก โดยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ Aa1 โดยมูดีส์ และระดับ AA- โดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ และฟิทช์ เรทติงส์ สำหรับในเอเชีย ยูโอบีดำเนินกิจการผ่านสำนักงานใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ และสำนักงานสาขาในจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ตลอดจนสาขาธนาคารและสำนักงานตัวแทนทั่วภูมิภาค

ตลอดระยะเวลากว่า 8 ทศวรรษที่ผ่านมา พนักงานของยูโอบีจากรุ่นสู่รุ่นต่างมุ่งมั่นทำงานด้วยจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าในระยะยาวและยึดมั่นต่อพันธกิจในการทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อลูกค้าและเพื่อนร่วมงานของเรา

เราเชื่อในการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนที่เราดำเนินกิจการอยู่ทุกแห่ง ควบคู่ไปกับการทุ่มเทช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถบริหารการเงินของตนเองอย่างชาญฉลาดและผลักดันให้ธุรกิจเติบโต ตลอดจนยึดมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะในด้านศิลปะ เยาวชน และการศึกษา

เกี่ยวกับ PwC

PwC มุ่งมั่นสร้างความไว้วางใจในสังคมและแก้ปัญหาที่สำคัญ เราคือเครือข่ายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจใน 155 ประเทศ และมีบุคลากรกว่า 284,000 คนที่ทุ่มเทให้บริการรับประกัน ให้คำปรึกษา และให้บริการด้านภาษีที่มีคุณภาพ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและแสดงความคิดเห็นได้ที่ www.pwc.com/sg

PwC หมายถึงเครือข่ายบริษัท PwC และ/หรือ บริษัทสมาชิกหนึ่งบริษัทหรือหลายบริษัท โดยแต่ละบริษัทเป็นนิติบุคคลที่แยกกันชัดเจน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pwc.com/structure

เกี่ยวกับ Singapore FinTech Association (SFA)

Singapore FinTech Association (SFA)คือองค์กรไม่แสวงผลกำไรข้ามอุตสาหกรรม มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมฟินเทคในสิงคโปร์และการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีส่วนร่วมในระบบนิเวศฟินเทคของสิงคโปร์ SFA เป็นองค์กรที่มีสมาชิกกว่า 850 ราย และเป็นตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับในอุตสาหกรรมฟินเทค ตั้งแต่บริษัทเชิงนวัตกรรมในระยะแรกไปจนถึงผู้เล่นและผู้ให้บริการรายใหญ่จากภาคการเงิน

เพื่อส่งเสริมจุดประสงค์ดังกล่าว SFA ยังร่วมมือกับสถาบันและสมาคมจากสิงคโปร์และทั่วโลกเพื่อดำเนินโครงการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฟินเทค โดยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กว่า 60 ฉบับ ใน 40 ประเทศ และเป็นองค์กร U Associate แห่งแรกที่เป็นพันธมิตรกับ National Trades Union Congress (NTUC) นอกจากนี้ ด้วยโครงการ FinTech Talent (FT) ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2560 ผู้ประกอบวิชาชีพกว่า 300 รายได้รับการฝึกอบรมด้านฟินเทค ทั้งในส่วนของบล็อกเชน สกุลเงินดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการกำกับดูแล

[1] การสำรวจจัดทำโดย UOB, PwC และ SFA เมื่อเดือนกันยายน 2563 โดยเป็นการสำรวจบริษัทฟินเทค 109 แห่ง ใน 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

[2] จากรายงาน e-Conomy SEA 2020 ของ Google, Temasek Holdings และ Bain & Company ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563

[3] แหล่งเดียวกับด้านบน

[4] จากรายงาน Future of Consumption in Fast-Growth Consumer Markets: ASEAN ของ World Economic Forum ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563

ที่มา:  พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์